เปิดข้อเท็จจริง การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในไทย

22 มิ.ย. 2563 | 02:00 น.

เว็บไซต์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยแพร่บทความ เปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวในไทย: ตอนที่ 1 แรงงานทักษะต่ำ มองภาพการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในไทย ผ่านข้อมูลประกันสังคม จากการวิจัยโดย ชมนาถ นิตตะโย, ดร.โสภณ ธัญญาเวชกิจ, บวรวิชญ์ จินดารักษ์, นันทนิตย์ ทองศรี พบว่า

  • ตลาดแรงงานไทยพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำเพิ่มสูงขึ้นมาก
  • ตลาดแรงงานโดยส่วนใหญ่ทำงานในประเภท 3D (difficult, dirty and dangerous) ซึ่งเป็นงานที่คนไทยไม่นิยมทำ และยังขยายขอบเขตไปในหลายกิจกรรมมากขึ้น
  • บริษัทที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวในระดับสูงมักเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น รวมทั้งบริษัทเหล่านี้ยังมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันชัดเจนในแต่ละประเภทธุรกิจ ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงนัยของการออกแบบนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เฉพาะเจาะจงและตรงจุดมากขึ้น

 

คณะผู้วิจัยได้จัดทำข้อสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้

ผลการศึกษาในบทความนี้มีนัยเชิงนโยบายหลายประการด้วยกัน ในส่วนที่พบว่ามีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำเพิ่มสูงขึ้นมากนั้น ตัวเลขนี้ยังขาดข้อมูลของแรงงานต่างด้าวนอกระบบประกันสังคม และแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องวางระบบโครงสร้างการลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าว เพื่อให้มีตัวเลขที่สะท้อนภาวะจริงมากที่สุด

โดยเร่งให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย การลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการลงทะเบียน การกำหนดค่าธรรมเนียมที่พอประมาณ (เพื่อป้องกันการเลี่ยงไปใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย) เพื่อประโยชน์ในการติดตาม และให้ความคุ้มครองดูแล ยิ่งโดยเฉพาะในปัจจุบันที่เกิดโรคระบาด นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่แม้จะทำงาน 3D แต่มีแนวโน้มที่จะขยายขอบเขตการทำงานเข้าไปยังประเภทธุรกิจอื่นมากขึ้น ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่แรงงานไทยจะถูกแย่งงานได้

ดังนั้นการมีนโยบายที่ชัดเจนในการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำย่อมเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การกำหนดอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นในการจ้างแรงงานต่างด้าว หรือการเลือกรับเฉพาะแรงงานที่มีทักษะตามที่ต้องการในแต่ละกิจกรรม เป็นต้น

ผลการศึกษาในส่วนถัดมาที่พบว่าประเภทธุรกิจและขนาดบริษัทมีส่วนต่อการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวนั้น อาจนำไปสู่นโยบายในการบริหารแรงงานได้ เช่น การกำหนดเพดานสัดส่วนการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว (dependency ratio ceiling) แยกตามประเภทธุรกิจและขนาดบริษัท เพื่อช่วยไม่ให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำมากเกินไป หรือการเร่งสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว 

เนื่องจากเราได้ประสบการณ์จากการที่แรงงานต่างด้าวหนีกลับประเทศจนมีการขาดแคลนแรงงานมาแล้วในอดีต ดังนั้นควรลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้โดรนในภาคเกษตรกรรม การใช้วัสดุสำเร็จรูปในภาคก่อสร้าง การใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดและให้บริการในภาคบริการ หรือแม้แต่การใช้ช่องทางออนไลน์ สำหรับภาคการค้า เพื่อลดต้นทุนในการจ้างแรงงานและเพิ่มผลิตภาพในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

ผลการศึกษาในส่วนสุดท้ายที่พบว่าแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันชัดเจน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินนโยบายแรงงานต่างด้าวในอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายที่เจาะจงและตรงจุด

อ่านงานวิจัย เปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวในไทย: ตอนที่ 1 แรงงานทักษะต่ำ มองภาพการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในไทย ผ่านข้อมูลประกันสังคม ฉบับเต็มที่นี่ คลิก

ที่มา  สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์