กกร.ชง “บิ๊กตู่”เร่งปลดล็อก แบน 2 สารกระทบศก.1.7 ล้านล้าน

02 มิ.ย. 2563 | 00:49 น.

กกร.ชง “บิ๊กตู่”มาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหา หลังแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”มีผลบังคับใช้ ของดดำเนินคดีเกษตรกรทั้งแพ่ง-อาญาช่วงเปลี่ยนผ่าน เยียวยาความเสียหายผู้ครอบครองสาร ผ่อนผันบังคับใช้สารตกค้างเป็น 0 ถึง ธ.ค.64 หวั่นกระทบเสียหายเศรษฐกิจ 1.7 ล้านล้านบาท

ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ให้ยึดมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ในการยกเลิกการใช้ 2 สารในภาคเกษตร ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และใช้มาตรการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตนั้น

การประกาศยกเลิกการใช้สารทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยที่ในส่วนของเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเล็กที่มีทางเลือกน้อยที่สุดในปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการแปลงให้สอดรับกับนโยบายใหม่จากภาครัฐ ยังไม่มีสารทดแทนที่เหมาะสมทั้งประสิทธิภาพและต้นทุน ให้แก่เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปใช้ในฤดูกาลเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึงของปี 2563 และต่อไปแต่อย่างใด

ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการแปรรูปอาหารและอาหารสัตว์ อันเป็นผลมาจากข้อบังคับของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ.2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งระบุว่า “อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐานโดยตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายพ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551” ซึ่งข้อบังคับนี้เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปตามศัพท์เทคนิคว่า “zero tolerance”

นายกลินท์  สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า จากการประชุมระดมความคิดเห็นคณะทำงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) พบว่า อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ของไทย ผลิตอาหารและอาหารสัตว์เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศและเพื่อการส่งออก โดยใช้วัตถุดิบทั้งที่ผลิตในประเทศ อาทิ ข้าวโพด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นต้น และที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย หรือผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ อาทิ ถั่วเหลือง และข้าวสาลี เป็นต้น

การที่ประเทศไทยยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส และบังคับใช้มาตรการ zero tolerance(สารตกค้างเป็น 0) ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยไม่สามารถใช้วัตถุดิบในประเทศที่ผลิตหรือกำลังผลิตในแปลงเกษตรกรก่อนหน้าการประกาศยกเลิกการใช้สารทั้ง 2 ชนิด อีกทั้งไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพและปริมาณเหมาะสมสำหรับการแปรรูปอาหารและอาหารสัตว์ ยังคงมีการใช้สารพาราควอตและ/หรือคลอร์ไพริฟอสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้อาจมีการตกค้างของสารพาราควอตหรือคลอร์ไพริฟอสในวัตถุดิบเหล่านั้น ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ความปลอดภัยของมาตรฐานสากล เช่น CODEX MRLs ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับจากประเทศส่วนใหญ่ในตลาดโลก

กกร.ชง “บิ๊กตู่”เร่งปลดล็อก แบน 2 สารกระทบศก.1.7 ล้านล้าน

                                     กลินท์  สารสิน

ทั้งนี้ เนื่องจากวัตถุดิบทั้งจากในและต่างประเทศเป็นองค์ประกอบสำคัญตลอดทั้งสายของห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ หากไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบเหล่านั้น จะก่อให้เกิดผลกระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท การเลิกจ้างงานประมาณ 12 ล้านคน ตลอดจนผลกระทบด้านสังคม จากการสูญเสียความมั่นคงด้านอาหารจากการที่อาหารหลายชนิดที่ประชาชนทั่วไปใช้บริโภคประจำวันจะเกิดการขาดตลาด

 

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จึงได้นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณามาตรการเป็นการเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจากการห้ามใช้ 2 สารในภาคเกษตร (พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส) ดังนี้

1) แนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะเปลี่ยนผ่าน : (ระยะเวลาตั้งแต่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2563 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2564) ประกอบด้วยมาตรการดังนี้

1.1) ช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็ก โดยการจัดหาสารทดแทนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เร่งฝึกอบรมการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดอย่างปลอดภัย เร่งส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยตามแนวทาง GAP งดการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นภาระต่อเกษตรกร และงดการดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง และอาญากับเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับสารพาราควอตและ/หรือคลอร์ไพริฟอส ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

1.2) ผ่อนผันการบังคับใช้มาตรการ zero tolerance ต่อสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 378 พ.ศ.2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้างออกไปจนถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2564 เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถใช้วัตถุดิบในประเทศ และนำเข้าวัตถุดิบที่มีการทำสัญญาซื้อขายกับต่างประเทศไปจนถึงปี 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

1.3) ดูแลความปลอดภัยประชาชนผู้บริโภค โดยจัดตั้งคณะทำงานศึกษาร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ ด้านความปลอดภัยของวัตถุดิบที่ผลิตขึ้นโดยมีการใช้สารพาราควอตและ/หรือคลอร์ไพริฟอสในขั้นตอนการเพาะปลูก เพื่อติดตามผลความปลอดภัยต่อผู้บริโภคจากใช้วัตถุดิบในช่วงเวลาการผ่อนผัน และสามารถปรับวิธีการปฏิบัติได้อย่างทันท่วงทีในสถานการณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งให้มีการรายงานให้ภาครัฐและประชาชนผู้บริโภคทราบเป็นระยะอย่างเหมาะสม

1.4) สื่อสารกับประชาชนผู้บริโภค โดยจัดตั้งคณะทำงานด้านการสื่อสารร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อสื่อสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของสารเคมีในภาคเกษตรที่ผ่านการประเมินความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการสู่ประชาชนผู้บริโภคทั่วไป

 1.5) ช่วยเหลือผู้ครอบครองสาร ทั้งที่เป็นเกษตรกรและผู้ประกอบการ เนื่องจากการครอบครองพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เกิดขึ้นโดยการผลิตและจำหน่ายที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะมีการประกาศยกเลิกการใช้ จึงควรมีการผ่อนผันและเยียวยาให้ผู้ครอบครองที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งรัฐ เช่น ความเสียหายที่เกิดจากคำสั่งให้ส่งคืนและทำลายสาร และการอนุญาตให้เกษตรกรที่ครอบครองสารทั้ง 2 ชนิดสามารถใช้ต่อไปได้จนกว่าสารที่ครอบครองจนหมดสิ้นหรือไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นต้น

กกร.ชง “บิ๊กตู่”เร่งปลดล็อก แบน 2 สารกระทบศก.1.7 ล้านล้าน

 2) แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร : (ระยะเวลาตั้งแต่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2563 เป็นต้นไป) ประกอบด้วยมาตรการดังนี้

2.1) การปรับเปลี่ยนภาคการเกษตรของไทย สู่การทำเกษตรกรรมตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice  : GAP) เป็ นขั้นต่ำ เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยในการเกษตรสำหรับเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

2.2) การปรับกฎระเบียบและขั้นตอนด้านการกำกับดูแลสารเคมีให้สอดคล้องกับความก้าวหน้า ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม

2.3) การปรับเปลี่ยนใช้มาตรฐานสากลในการกำกับดูแลความปลอดภัยจากการตกค้างของวัตถุ อันตรายทุกชนิดในอาหารและอาหารสัตว์ อาทิ มาตรฐาน CODEX MRLs เพื่อให้การนำเข้าและส่งออกของสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ประเทศคู่ค้าในตลาดโลกให้การยอมรับ ซึ่งมาตรการเร่งด่วนและแนวทางแก้ปัญหาถาวรนี้ทางกกร.ได้นำเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งดำเนินการแล้ว