เกษตรกร-ภาคอุตสาหกรรม ร้องระงม หลังแบน 2 สารยังไร้ทางออก

01 มิ.ย. 2563 | 00:00 น.

อนาคตหลังแบน“พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ยังเคว้ง สภาหอฯ ลั่นสัปดาห์หน้าต้องมีทางออกชัด ภาคอุตสาหกรรมผวากระทบวงกว้างค่าสารตกค้างเป็น 0 เกษตรกรมึนไร้สารทดแทน ผู้นำเข้าอ่วมแบกรับค่าทำลายเอง เผยทั้งประเทศมีแค่บริษัทเดียว ค่าบริการตันละ 1 แสน

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563  เป็นต้นไป สารเคมี “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส” ประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จะทำให้ใบทะเบียน ใบอนุญาตผลิต และใบอนุญาตครอบครอง ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จะสิ้นสุด ในส่วนของเกษตรกรจะต้องส่งคืนร้านค้าภายใน 90 วัน ขณะที่ร้านค้า จะต้องส่งคืนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าและและแจ้งปริมาณเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภายใน 120 วัน และผู้ผลิตและผู้นำเข้า แจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าเหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการ เกษตร ภายใน 270 วัน หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (กราฟิกประกอบ) นำมาซึ่งผลกระทบภาคส่วนที่มีส่วนได้-เสีย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบจากการแบนดังกล่าว ทั้งนี้ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.). ได้มีการประชุมร่วมกับรัฐบาล รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทุกวัน ว่าจะหาทางออกกันอย่างไรเพื่อลดผลกระทบทั้งเกษตรกร ผู้นำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตร คาดสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุป

เกษตรกร-ภาคอุตสาหกรรม ร้องระงม หลังแบน 2 สารยังไร้ทางออก

ขณะที่นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์/กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี กล่าวว่า สาเหตุที่อยากให้ขยายเวลาออกไปเนื่องจากมาตรการต่างๆ ยังไม่พร้อมตั้งแต่ขยายระยะเวลาการแบนครั้งแรกเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว และไม่มีความคืบหน้าว่าจะมีการเตรียมการอย่างไรหลังจากแบนแล้ว และมาตรการที่จะต้องปฏิบัติก็ล้วนแล้วแต่เป็นภาระของเอกชนและเกษตรกร เช่น ให้เกษตรกรนำสารเคมีที่เหลือไปคืนร้านค้า ถึงคืนไปร้านค้ารับสินค้า แต่ไม่จ่ายเงินให้เกษตรกร และธรรมชาติหากเกษตรกรมีสารเคมีเหลือก็คงไม่คืนร้านค้า ดังนั้นเวลาออกมาตรการอะไรควรนึกถึงข้อเท็จจริง นอกจากนี้จะให้เอกชนทำลายสารภายในเวลาที่กำหนดซึ่งทั้งประเทศมีที่กำจัดสารแค่แห่งเดียวมีกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี แต่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1 ล้านลิตร  

“การออกมาตรการไม่ได้ดูข้อเท็จจริงเลย จะทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ และจะทำให้มีการลักลอบใช้สารเคมีกันต่อ เพราะสารทดแทนยังไม่มี” 

ในขณะที่อ้างว่ามีสารที่ใช้ทดแทนก็ไม่มีการพิสูจน์ว่าใช้ได้อย่างไร ที่เป็นห่วงกังวลมากที่สุดในขณะนี้คือเกษตรกร ที่ยังไม่มีทางออกว่าจะใช้สารอะไรทดแทนได้ในต้นทุนที่ไม่สูงไปจากเดิม ขณะที่มีหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจะได้รับผลกระทบไม่ว่าอาหาร บะหมี่  ถั่วเหลือง อาหารสัตว์ ล่าสุดรวมถึงหัตถกรรมด้วย เพราะการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากถั่วเหลือง แป้งสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สารตกค้างต้องเป็นศูนย์ซึ่งแค่สารตกค้าง 0.001 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(PPM) ก็ลำบากแล้ว 

“ประเมินหากไม่มีผลกระทบตรงนี้ หลังโควิด-19 คลี่คลายไทยจะกลับมาผงาดได้ใน 1 ปีครึ่ง แต่พอมีปัญหาตรงนี้ บอกเลยว่ายากมากที่จะกลับมาได้เร็วกว่านี้ เพราะยังไม่รู้เลยว่าจะมีทางออกอย่างไรก่อนกฎหมายบังคับใช้ ที่สำคัญจะไปเจรจากับประเทศคู่ค้าอย่างไรใน WTO ในเมื่อสารที่เราแบนทั่วโลกเขายังใช้กัน”

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เผยว่า มีบริษัทเดียวในประเทศไทยที่สามารถทำลาย 2 สารได้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้เคยว่าจ้างในปี 2561 ให้ บมจ.อัคคีปราการเผาทำลายวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ในราคา 1 แสนบาทต่อตัน ซึ่งการทำลายวัตถุอันตรายจะต้องทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์ และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3579 วันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2563