เปิด 7 เงื่อนไข ใครเข้าข่าย ได้รับเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน

27 พ.ค. 2563 | 11:01 น.

กระทรวงพลังงาน เผย 7 เงื่อนไข 7 ที่เข้าข่ายได้รับเงินสนับสนุน จาก กองทุนอนุรักษ์พลังงาน จากที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แห่ยื่นขอเกิน 11 เท่า ของเงินสนับสนุน

จากที่ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้เปิดให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ยื่นข้อเสนองบสนับสนุนโครงการ ปีนี้ มีจำนวนทั้งหมด 5,155 โครงการวงเงิน 62,616.64 ล้านบาท ขณะที่ที่กรอบการจัดสรรเงินกองทุนฯ มี 5,600 ล้านบาท หรือเกินจำนวนเงินที่มีประมาณ 11 เท่า

จำนวนข้อเสนอที่ยื่นนี้ แบ่งเป็นส่วนราชการ  ส่วนกลาง  และส่วนภูมิภาครวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอมา 3,632 โครงการ วงเงิน 44,431 ล้านบาท เป็นรัฐวิสาหกิจ 10 โครงการ วงเงิน1,183 ล้านบาท สถาบันการศึกษา 1,252โครงการ วงเงิน 16,659 ล้านบาท  และองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรจำนวน 261 โครงการ วงเงิน 641 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ โครงการต่างๆ ที่ยื่นเข้ามานี้ ทาง คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองโครงการต่าง ๆ ภายใต้เงื่อนไข 7 ข้อ ดังนี้

 

เปิด 7 เงื่อนไข ใครเข้าข่าย  ได้รับเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน

1.เน้นโครงการที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงิน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 โดยมีกิจกรรม/ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่แสดงความสำเร็จของโครงการ/กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับผลประโยชน์ชัดเจน รวมถึงแสดงถึงจุดสิ้นสุดของโครงการ มีหน่วยงานรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลโครงการต่อ

 

2.เน้นโครงการที่มีข้อมูลทางเทคนิคของอุปกรณ์มาประกอบการพิจารณา โดยแสดงผลประหยัดที่ถูกต้อง มีระยะเวลาการคืนทุน มีข้อมูลความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการชัดเจน

 

3.เน้นโครงการที่ผู้ขอยื่นรับการสนับสนุนไม่เข้าข่ายเป็นผู้ขอแทนกันในลักษณะที่ไม่ใช่เจ้าของหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน

 

4.กรณีที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ต้องมีรายงานแสดงผลการเบิกจ่ายของปีทีผ่านมา ไม่น้อยกว่า 50% และมีรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 50% โดยแสดงข้อมูลดังกล่าว ณ วันที่ยื่นข้อเสนอโครงการ

 

5.ไม่สนับสนุนโครงการที่ขอดำเนินการในลักษณะเดียวกับโครงการสาธิตริเริ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ หรือมีการดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว

 

6.กรณีเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผลผลิตภาคการเกษตรจะต้องสามารถวัดผลได้ ว่ามีการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร

 

7.ทรัพย์สินที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ได้รับการสนับสนุนจะต้องบำรุงรักษาต่อไป

 

เปิด 7 เงื่อนไข ใครเข้าข่าย  ได้รับเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน

นายกุลิศ  สมบัติศิริ  ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับวงเงินที่กองทุนอนุรักษ์พลังงาน จัดสรรมาในปีนี้ วงเงิน 5.6 พันล้านบาท จะมีอยู่ 2 แผน ได้แก่  แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กับแผนพลังงานทดแทน  โดยทั้ง 2 แผนจะแบ่งเป็น 1.กลุ่มงานตามกฎหมาย แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กรอบวงเงิน 40 ล้านบาท วงเงินยื่นขอ 107.69 ล้านบาท เกินกรอบวงเงิน 169.22% 2.กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อพัฒนาและส่งเสริม แบ่งเป็นแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กรอบวงเงิน 200 ล้านบาท วงเงินยื่นขอ 3,296.50 ล้านบาท เกินกรอบวงเงิน 1,548.25% และแผนพลังงานทดแทนกรอบวงเงิน 200 ล้านบาท วงเงินยื่นขอ 1,703.28 ล้านบาท เกินกรอบวงเงิน 751.64%

 

3.กลุ่มงานสาธิต  และต้นแบบ แบ่งเป็นแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กรอบวงเงิน 300 ล้านบาท วงเงินยื่นขอ 7,864.85 ล้านบาท เกินกรอบวงเงิน 2,521.62% และ แผนพลังงานทดแทน กรอบวงเงิน 600 ล้านบาท วงเงินยื่นขอ 14,993.79 ล้านบาท เกินกรอบวงเงิน 2,398.96% 

 

4.กลุ่มงานสื่อวาร และข้อมูล ข่าวสาร แบ่งเป็นแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กรอบวงเงิน 320 ล้านบาท วงเงินยื่นขอ 724.70 ล้านบาท เกินกรอบวงเงิน 126.47% และแผนพลังงานทดแทนกรอบวงเงิน 300 ล้านบาท วงเงินยื่นขอ 521.99 ล้านบาท เกินกรอบวงเงิน 74% 

 

5.กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กรอบวงเงิน 40 ล้านบาท วงเงินยื่นขอ 456 ล้านบาท เกินกรอบวงเงิน 1,039.99%  และ6.กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน  ยกระดับคุณภาพชีวิตเพิ่มเศรษฐกิจฐานราก  แบ่งเป็นแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กรอบวงเงิน 1,500 ล้านบาท วงเงินยื่นขอ 8,424.36 ล้านบาท เกินกรอบวงเงิน 461.62% และ แผนพลังงานทดแทน กรอบวงเงิน 2,100 ล้านบาท วงเงินยื่นขอ 24,523.48 ล้านบาท เกินกรอบวงเงิน 1,067.78%