ก.เกษตรฯยุค 4.0 ลุยเต็มสูบ เตรียมคิกออฟศูนย์ AIC จัดตั้งบิ๊กเดต้า

27 พ.ค. 2563 | 10:35 น.

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมเปิดศูนย์ AIC วันที่ 1 มิ.ย.นี้ พร้อมจับมืออาลีบาบา -แกร็บ จัดหลักสูตรตลาดออนไลน์

 

หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแผนจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร


อีกทั้งยังเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร สนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer ในแต่ละจังหวัด และผลักดันงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุน การแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ มีความเชื่อมโยงภายใต้คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 อันประกอบด้วยคณะอนุกรรมการอีก 4 คณะ ได้แก่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce, และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของ รมว.กษ. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน


ล่าสุดทางศูนย์ฯได้มีการลงนามบันทึกตกลงความความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์ AIC ในสถาบันการศึกษาไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 69 สถาบัน 83 แห่ง 77 จังหวัด และในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 นี้ จะมีการประชุมเพื่อคิกออฟศูนย์  AIC
 

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์ AIC ให้มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งในวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน จะประชุมเพื่อเริ่มเปิดศูนย์ AIC โดยจะหยิบยกประเด็นสำคัญขึ้นมาหารือ ประกอบไปด้วย การอบรมบ่มเพาะ เรื่อง ตลาดเกษตร โลจิสติกส์เกษตร เกษตรอนาคตทางเลือกใหม่ , การถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม เช่น ระบบสูบน้ำส่งน้ำด้วยพลังงานทางเลือก ,จัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย ,


จัดทำ Action plan ,จัดตั้งโครงสร้างขับเคลื่อน ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร คณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรมและเครื่องจักรกลเกษตร คณะกรรมการพัฒนาตลาดเกษตร (ออนไลน์และออฟไลน์) คณะกรรมการโลจิสติกส์เกษตร คณะกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร เป็นต้น

ก.เกษตรฯยุค 4.0 ลุยเต็มสูบ เตรียมคิกออฟศูนย์ AIC จัดตั้งบิ๊กเดต้า
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 คณะ ที่เชื่อมโยงกับศูนย์ AIC อาทิ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ GovTech โดยมี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธานมีการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยให้บูรณาการข้อมูลให้ครอบคลุมในทุกมิติและเป็นปัจจุบัน เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center : NABC) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 และวางแผนขับเคลื่อนการจัดทำ Big Data ในช่วง 6 เดือน (เมษายน – กันยายน 2563) อย่างเป็นระบบ


คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ โดยมี ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ เป็นประธาน มีการปรับแผนการดำเนินงานด้านเกษตรอัจฉริยะ จำนวน 9 โครงการ/กิจกรรม มีการดำเนินงานแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะมันสำปะหลัง แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะผักสลัดในโรงเรือน แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะกุ้งขาวแวนนาไม และการสร้างการรับรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ ร่วมกับ AIC


คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce โดยมี นายศตพล จันทร์ณรงค์ เป็นประธาน มีการจัดทำโครงการคอร์ส Cloud Kitchen ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ Grab และได้มีการแถลงข่าวเปิดโครงการ Cloud Kitchen ซึ่งขณะนี้โครงการ Cloud Kitchen ได้ขึ้นระบบการเรียนรู้ผ่านเฟซบุ๊ค  ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce เรียบร้อยแล้ว 
 

 

อีกทั้งยังทำความร่วมมือร่วมกับผู้แทน Alibaba เพื่อเปิดคอรส์สอนขายสินค้าเกษตร มุ่งเน้นเรื่องการฝึกอบรมเกี่ยวกับการนำสินค้าเกษตรขึ้นบน Platform ของ Alibaba โดยแนวทางการทำงานร่วมกับ Alibaba จะเป็นการอบรมออนไลน์ โดยใช้โปรแกรม Zoom เป็นการสอนในเรื่องของการนำสินค้าเกษตรขึ้นบน Platform ของ Alibaba โดยมีกลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่ที่มีความรู้พื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต


นอกจากนั้นแล้วยังมี คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร AgriBusiness โดยมี นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ เป็นประธานได้จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบการระบาดของโควิด 19 เป็น 2 มาตรการ ประกอบด้วย
- มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ 1) รวบรวมข้อมูลสินค้าเกษตรที่มีปัญหา 2) ใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์ หรือ Platform หน่วยงานราชการ 3) รับ Pre-Order สินค้าเกษตร 4) การกระจายสินค้าเกษตรผ่านสหกรณ์การเกษตร 5) การเชื่อมโยงเกษตรกรสู่ Platform ของ StartUP ด้านการตลาด
- มาตรการระยะกลางและระยะยาว ได้แก่ 1) การแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น สินค้าประเภทอาหาร  สินค้าประเภทของใช้ 2) ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเสนอโครงการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร โดยได้ลงพื้นที่สำรวจสินค้าเกษตร จ.จันทบุรี หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และบริษัทเอกชนในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด และราคาตกตํ่า ตลอดกระจายผลไม้ช่วยเกษตรกร โดยการจัดทำ “โครงการเราทำได้ We can do it” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมังคุด จ.จันทบุรี ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อีกด้วย


นายอลงกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจทัล (ดีป้า) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพิ่มช่องทางลงทุนภาคเกษตรด้วยคราวด์ฟันดิ้งก์ (crowd funding) เพื่อให้ ผู้ประกอบการระดมทุนจากผู้ลงทุนในจำนวนเงินคนละเล็กคนละน้อย ผ่านตัวกลาง “Funding Portal” เพื่อนำเงินมาใช้ตามวัตถุประสงค์ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย Young Smart armer, Start up และ SMEs