บี.กริม คว้าใบอนุญาตนำเข้าก๊าซ LNG เป็นรายที่ 5

27 พ.ค. 2563 | 09:09 น.

บอร์ดกกพ.ไฟเขียว ใบอนุญาตนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ให้ บี.กริม แอลเอ็นจี เป็นรายที่ 5 รับการเปิดตลาดเสรีจัดหากก๊าซฯในอนาคต แข่งขันเดือด

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ “บอร์ดกกพ.” ได้เห็นชอบให้บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย จากที่มีผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติไปแล้ว 4  ราย ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด

 

การมีผู้เล่นทั้ง 5 ราย นี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้การนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ของประเทศมีการ แข่งขันกันรุนแรง มากขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้ามาเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าของตัวเอง ซึ่งจะไปลดปริมาณการรับซื้อก๊าซธรรมชาติจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในอนาคตที่ลดลง

 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุม บอร์ดกกพ.ในวันนี้(27 พฤษภาคม 2563) ได้เห็นชอบให้บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย รวมแล้วมีผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมด 5 ราย


บี.กริม คว้าใบอนุญาตนำเข้าก๊าซ LNG เป็นรายที่ 5

                                            นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์     

ทั้งนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าหรือจัดหารายใหม่ จะสามารถดำเนินการประสานงานติดต่อคลังเก็บก๊าซธรรมชาติ (LNG Receiving Terminal) และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อศึกษาความสามารถของระบบก๊าซธรรมชาติ การจองการใช้งานระบบส่งก๊าซธรรมชาติ และเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในการขอรับใบอนุญาต

 

สำหรับ การ เปิดการแข่งขันนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี กกพ.ได้ออกประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และกำกับผู้ได้รับใบอนุญาตให้พัฒนากฎกติกาเกี่ยวกับ Third Party Access (TPA Codes) ทั้งระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและคลังเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย แต่ก็ยังไม่มีผู้สนใจมาใช้งานเนื่องจาก LNG ในตลาดโลกมีราคาสูงกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

บี.กริม คว้าใบอนุญาตนำเข้าก๊าซ LNG เป็นรายที่ 5

ล่าสุด กกพ. ได้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562  โดยให้ กฟผ. ทดลองนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจำนวน 2 ลำเรือในเดือนธันวาคม 2562 และเดือนเมษายน 2563 ตามลำดับ เพื่อทำการทดสอบระบบบริหารจัดการระบบท่อก๊าซธรรมชาติและคลังเก็บก๊าซธรรมชาติ เช่น ทดสอบการประสานงานในการเรียกใช้ก๊าซและการสั่งจ่ายไฟฟ้า และทดสอบการบริหารจัดการด้านคุณภาพบริการ ซึ่งผลทดสอบอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

 

ปัจจุบัน ราคา LNG ในตลาดโลก อยู่ในระดับที่ต่ำและจะเป็นโอกาสที่ผู้ได้รับใบอนุญาตที่จะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าวในการเตรียมความพร้อมและติดต่อประสานงานผู้ผลิตเพื่อนาเข้า LNG ในอนาคต อีกทั้งผู้ได้รับใบอนุญาตทุกรายจะต้องศึกษาโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ โครงสร้างราคา และกฎกติกาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ TPA Codes ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อประโยชน์ในการนำเข้า LNG ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และในจังหวะที่เหมาะสม

 

ทั้งนี้ กกพ. ได้ตระหนักถึงปัญหาจากการปฏิบัติหรือมีข้อโต้แย้งระหว่างผู้ได้รับใบอนุญาตในระยะเริ่มต้น และ กกพ. ได้เตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางแห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 นายคมกฤช กล่าวทิ้งท้าย

บี.กริม คว้าใบอนุญาตนำเข้าก๊าซ LNG เป็นรายที่ 5

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงฯ กำลังพิจารณาเรื่องโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ทั้งระบบ หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีการอนุมัติใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper ) เพิ่มขึ้น รวมแล้วมี 5 ราย ตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริมการแข่งขันให้เกิดการค้าเสรีก๊าซฯ เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำลง

ทั้งนี้ โครงสร้างก๊าซฯ จะมี 2 ตลาด ได้แก่ 1.ราคาตลาดราม ( Pool Market Price ) ซึ่งราคาเฉลี่ยมาจากก๊าซฯอ่าวไทย เมียนมา และสัญญาแอลเอ็นจีระยะยาวของ บมจ.ปตท. และ 2.ราคาตลาด (Market Price ) โดยเป็นราคานำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจร ซึ่งมีนโยบายชัดเจนว่าจะต้องไม่กระทบความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

สำหรับในส่วนของ ปตท.ก็มีการขอนำเข้าราคาตลาดจรเป็นมาร์เก็ตไพรซ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำแผนนำเข้าเช่นกัน อีก 3 ราย ทั้งกัลฟ์ หินกอง และ บี.กริม ที่จะนำเข้ามาก็ต้องปรับโครงสร้างราคาในประเทศกันใหม่ โดยในส่วนสัญญาระยะยาวของ ปตท.นั้น ขณะนี้ทราบว่า ปตท.จะไปเจรจากับคู่ค้าว่าจะปรับสัญญาอย่างไรให้แข่งขันได้ เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี  ปีนี้ ปตท.เตรียมนำเข้า LNG  สัญญาระยะยาว 11 ลำ ประมาณ  660,000 ตัน ด้าน  กฟผ.เสนอแผนเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 นำเข้าปริมาณไม่เกิน 0.6  ล้านตันต่อปี ,ปี 64 ปริมาณ 1.9 ล้านตันต่อปี และปี 65 ปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี ด้านกัลฟ์และหินกอง ทำแผนนำเข้า 300,000 ตันต่อปี  ส่วนบีกริม เตรียมแผนนำเข้า 650,000 ตันต่อปี