เตือนภัยรับมือฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค.

26 พ.ค. 2563 | 09:08 น.

กอนช.ย้ำทุกหน่วยงาน-ภาคประชาชนเร่งเก็บน้ำทุกแหล่งช่วงฝนตกชุก ลุ้น 32 แหล่งน้ำขนาดใหญ่เกณฑ์น้ำน้อยฝนเข้าเพิ่ม ก่อนฝนทิ้งช่วงปลาย มิ.ย.- ต้น ก.ค.

สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศขณะนี้ว่า ปัจจุบันน้ำในแหล่งน้ำทั้งประเทศมีปริมาณ 35,484 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 43 แบ่งเป็นปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 32,198 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 45  สำหรับสถานการณ์ในแม่น้ำสายหลักส่วนใหญ่ยังมีน้ำน้อย อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว จึงมีแนวโน้มในทางที่ดีว่าปริมาณน้ำของแม่น้ำสายหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และภาคตะวันตก รวมไปถึงแม่น้ำโขงจะเพิ่มขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงระหว่างวันที่ 26 – 29 พฤษภาคม 2563 ว่า ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก นอกจากนี้ยังได้มีการคาดการณ์ฝนในช่วง 3 เดือน พบว่า เดือนพฤษภาคม พื้นที่ของประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีปริมาณฝนรวมต่ำว่าค่าปกติ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีค่าฝนใกล้เคียงค่าปกติ เดือนมิถุนายน ปริมาณฝนรวมบริเวณภาคเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก สูงกว่าค่าปกติ

เตือนภัยรับมือฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค.

แต่ปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนเดือนกรกฎาคม คาดว่าพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงถึงสูงกว่าค่าปกติ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านตะวันตกของประเทศ และบางพื้นที่ของภาคใต้ซึ่งจะมีฝนต่ำกว่าค่าปกติ อีกทั้งระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง จึงต้องระวังฝนทิ้งช่วงในบางแห่งซึ่งอาจทำให้ขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน และเพื่อเป็นการเฝ้าระวังปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการคาดหมายถึงพื้นที่ฝนต่ำกว่าปกติ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงตุลาคม ได้แก่ พื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนของภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในปีนี้คาดว่าจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5% แต่ยังคงมีปริมาณมากกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา

เตือนภัยรับมือฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค.

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยในช่วงต้นฤดูฝน ฝนที่ตกลงมาส่วนใหญ่จึงช่วยเรื่องเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน แต่จากที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งมายาวนานและต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ยังมีไม่มากนัก  โดยเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาณรวมประมาณ 235 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย

แม้ว่าการระบายน้ำขณะนี้ส่วนใหญ่เพื่อจัดสรรน้ำฤดูฝนในการสนับสนุนการอุปโภคบริโภค รวมถึงรักษาระบบนิเวศ และอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งทุกหน่วยงานที่บูรณาการการทำงานภายใต้กอนช.ยังคงเดินหน้ามาตรการเก็บกักน้ำฝนให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะในแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงรณรงค์ประชาชนและเกษตรกรเก็บน้ำในภาชนะเก็บน้ำ สระในไร่นา แหล่งน้ำทุกประเภทในพื้นที่ตนเองควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ อาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ดร.สมเกียรติ กล่าว

สำหรับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำมากขณะนี้ยังไม่พบว่ามีปริมาณเกินกว่า 80% โดยมีถึง 32 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ดังนั้น แหล่งน้ำทุกแห่งยังสามารถรองรับน้ำฝนได้อีกมาก อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์เพิ่มเติมว่าในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน อาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่น อาจเกิดน้ำท่วมฉันพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่ ขณะนี้ กอนช. จึงได้เร่งรัดขับเคลื่อนทุกหน่วยงานให้เดินหน้าตาม 8 มาตรการ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฤดูฝนในปีนี้ควบคู่ไปพร้อมกันด้วย

เตือนภัยรับมือฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค.

โดยวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการรับมือกับสถานการณ์น้ำในฤดูฝน อาทิ โครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปี 2562/63 โครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 การดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืช มาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2563 การเชื่อมระบบคาดการณ์น้ำสถานีหลักแห่งชาติเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ การติดตั้งสถานีโทรมาตรในพื้นที่วิกฤติ เป็นต้น และจะยังคงมีการติดตามสภาพอากาศ คาดการณ์แนวโน้มฝนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของทุกหน่วยงานเป็นไปอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์