ทำไม “จีน”เน้นการจ้างงาน สำคัญกว่าตัวเลข GDP

26 พ.ค. 2563 | 06:57 น.

นายกฯ "หลี่ เค่อเฉียง"ของจีน ย้ำชัด จากนี้จีนเน้นการจ้างงานให้คนในชาติมีงานทำ มากกว่าเน้นตัวเลขการขยายตัวของ GDP จากสารพัดปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

 

ในวันแรกของการเริ่มการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People’s Congress: NPC ) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 นายกรัฐมนตรี "หลี่ เค่อเฉียง" ของจีน ได้กล่าวถ้อยแถลงที่สำคัญในหลายเรื่อง รวมทั้งการเน้น “6 เสถียรภาพ” และ “6 หลักประกัน” ซึ่งจะมีนัยอย่างไรต่อภาวะปกติใหม่ (New Normal) นับจากนี้ รวมทั้งนัยต่อวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้น

ทำไม “จีน”เน้นการจ้างงาน สำคัญกว่าตัวเลข GDP

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน ได้วิเคราะห์ไว้ใน Facebook อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะจีนให้ความสำคัญกับการจ้างงาน (employment) และความพยายามไม่ให้คนจีนตกงาน เพราะจะมีปัญหาเสถียรทางสังคมตามมา โดยสรุปได้ดังนี้

 

ประการแรก การเน้นเรื่อง 6 เสถียรภาพ 6 หลักประกัน เป็นสไตล์จีนชอบพูดแบบแนวนี้ และจีนเป็นชาติที่เน้นการรักษาเสถียรภาพ (stability) เน้นรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

 

6 เสถียรภาพที่จีนเน้น คือ

1. การจ้างงาน

2. การเงิน

3. การลงทุนจากต่างประเทศ

4. การค้าระหว่างประเทศ

5.การลงทุนภายในจีน

6. การวางแผน/คาดการณ์เศรษฐกิจ

 

ส่วนหลักประกันความมั่นคง 6 ด้านที่นายกฯจีนประกาศ คือ

1. หลักประกันการมีงานทำ

2. ความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชน

3. หลักประกันกลไกตลาดทำงานได้อย่างมีเอกเทศ

4. ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

5. ความมั่นคงของห่วงโซ่อุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทาน

6.สภาพสังคมที่ดำเนินไปอย่างราบรื่น

จะสังเกตได้ว่า ในคำว่า 6 เสถียรภาพ มีคำว่า “การจ้างงาน” และในคำว่า 6 รับประกัน ก็มีเรื่อง “การจ้างงาน”ด้วย

 

ประการที่สอง ยิ่งตอนนี้ จีนไม่ประกาศตั้งเป้าหมายการเติบโต GDP แต่หันมาเน้นความสำคัญสร้างงาน และประกาศจะสร้างงานใหม่ในเขตเมืองไม่ต่ำกว่า 9 ล้านตำแหน่ง เพราะถ้าคนจีนตกงาน อาจจะสร้างปัญหาเสถียรภาพทางสังคมตามมา เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผู้นำจีน

 

ตอนนี้ วิกฤติโควิด-19 ทำให้คนจีนตกงาน 27 ล้านคนแล้ว

 

จึงสังเกตได้ว่า ในถ้อยแถลงของท่านนายกหลี่ ฯ ในวันแรก มีการพูดคำว่า การจ้างงาน Employment บ่อยมาก 39 ครั้ง พูดบ่อยกว่า คำว่า การระบาด Epidemic ที่พูด 34 ครั้ง

 

สะท้อนว่า การจ้างงานเป็น priority ของจีนในขณะนี้ นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง พูดคำนี้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากคำว่า การพัฒนา Development ที่พูด 76 ครั้ง

 

แน่นอนว่า ถ้าคนตกงานเยอะ จะสร้างปัญหาทางสังคมตามมา ย่อมจะกระทบ credibility พรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยค่ะ (คนอาจจะแสดงความไม่พอใจแล้วลงถนนประท้วงด้วยค่ะ)

ทำไม “จีน”เน้นการจ้างงาน สำคัญกว่าตัวเลข GDP

                    นายกรัฐมนตรี "หลี่ เค่อเฉียง" ของจีน

 

ประการที่สาม ประเด็น 6 เสถียรภาพเป็นเรื่องที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสำคัญมาก่อนหน้าแล้วค่ะ

 

6 เสถียรภาพที่พูดถึง ได้แก่  การจ้างงาน การเงิน การค้าต่างประเทศ การลงทุนในประเทศ  การลงทุนจากต่างประเทศและการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ  ต้องมีความเสถียรภาพ  ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่กำหนดไว้เมื่อครั้งมีการประชุมกรมการเมืองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 เพื่อประกันให้เศรษฐกิจจีนดำเนินไปในระดับที่พอเหมาะพอควร  ประกันให้บรรลุเป้าหมายการสร้างสังคมพอกินพอใช้ หรือสังคมเสี่ยวคัง Xiao Kang และแผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ 13 ด้วย

 

ประการที่สี่ สำหรับเหตุผลเบื้องลึกที่จีนเน้นรักษาเสถียรภาพทางสังคม  เพราะหากประเทศไม่สงบ คนไม่มีงานทำ ขาดรายได้  คนไม่พอใจรัฐบาล  อาจจะกลายเป็น "ภัยคุกคาม"ต่อการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ปีหน้า 2564 จะครบวาระ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนเตรียมฉลองใหญ่ จึงต้องพยายามทุกรูปแบบที่จะป้องกันปัญหาทางสังคมที่อาจจะกระทบการเมืองและสั่นคลอนการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

(การออกกฏหมายความมั่นคงในเรื่องฮ่องกงและการเริ่มใช้ความเด็ดขาดปราบผู้ประท้วงฮ่องกง ก็เพื่อให้จบก่อนถึง 1 ก.ค. 2564 ที่จีนจะฉลอง 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย) 

ดังนั้น คนจีนต้องมีงานทำ คนต้องมีรายได้ จึงสำคัญกว่าตัวเลข GDP

 

ประการที่ห้า ในแง่นัยต่อนักลงทุนไทยและต่างชาติอื่นๆ สะท้อนว่า ภายใต้ภาวะปกติใหม่ (New Normal) และการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่จะตามมา  จีนจะยิ่งให้ความสำคัญกับการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพื่อมาลงทุนในจีน และจะช่วยสร้างงานให้คนจีนมีงานทำตามมาด้วย

ทำไม “จีน”เน้นการจ้างงาน สำคัญกว่าตัวเลข GDP

ขณะนี้ เริ่มมีสัญญาณของต่างชาติจะถอนการลงทุนในจีน  เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศจะอุดหนุนให้บริษัทญี่ปุ่นย้ายออกจากจีน

 

สหรัฐฯ ก็ประกาศความขัดแย้งรอบใหม่กับจีนในหลายเรื่องที่จะกระทบการลงทุนในจีน และอาจจะมีผลให้คนจีนตกงาน

 

สิงคโปร์เองที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในจีนก็มีปัญหาจากวิกฤติโควิด-19  จึงสะท้อนว่า ประเทศที่ลงทุน FDI ในจีนล้วนลำบาก จีนจึงต้องต้องปรับทิศทางมาเน้นดึงดูด FDI ให้ไหลเข้าจีน

 

นายกฯ  จีนประกาศในถ้อยแถลงฯว่า จะเพิ่มบทบาทของเงินทุนต่างประเทศ รวมไปถึงการปรับลดรายการธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน (negative list) ลงด้วย

 

นายกฯ หลี่ ยังได้ประกาศในถ้อยแถลงฯ จะขยายทำ FTZ : Free Trade Zone ในจีนตะวันตก/จีนตอนกลาง เพื่อกระจายความเจริญไปจีนตอนใน จึงคิดว่า เฉิงตู น่าจะเป็นพื้นที่ FTZ แห่งใหม่ เพื่อกระจายการจ้างงาน/สร้างงานไปจีนตอนใน/จีนตอนกลางให้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี  ปัญหาความขัดแย้งเชิงอำนาจระหว่างประเทศก็ยังคงรุนแรง โดยเฉพาะสหรัฐฯกดดันบริษัทจีนและรัฐบาลจีนในหลายเรื่อง รวมทั้งปัญหาเรื่องฮ่องกง ไต้หวัน และพื้นที่ร้อนแรงอีกแห่ง คือ ทะเลจีนใต้  ซึ่งจีนเองก็ตอบโต้กลับและมีท่าทีแข็งกร้าวใน 3 ประเด็นอ่อนไหวนี้

 

ทั้งหมดนี้ สะท้อนถึง สถานการณ์โลกที่ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงสูงมาก  โดยเฉพาะนักธุรกิจทั้งหลายจำเป็นระมัดระวังเรื่องการลงทุน อย่าเพิ่งผลีผลาม เพราะโลกเราคงจะอึมครึมไปอีกนาน

 

ที่สำคัญ ภายใต้สถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ การเน้นให้คนไม่ตกงาน การสร้างงานใหม่ให้คนมีรายได้เพื่อความอยู่รอด จึงเป็นเรื่องสำคัญกว่าตัวเลข GDP  นะคะ

 

ถ้าสนใจ อ่าน full text ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีจีน Full text: Premier Li's speech at the third session of the 13th NPC ตาม link นี้

https://news.cgtn.com/news/2020-05-22/Full-text-Premier-Li-s-speech-at-the-third-session-of-the-13th-NPC-QHaP1FpB8k/index.html

เครดิต CGTN