รฟท.-ขสมก. ลุยเข้าแผนฟื้นฟูฯ

26 พ.ค. 2563 | 00:34 น.

"คมนาคม" เตรียมดัน รฟท.-ขสมก. เข้าแผนฟื้นฟูฯ หวังแก้ปัญหาขาดทุน หลังมีหนี้สะสมเพียบ จ่อชงครม.ไฟเขียว เดือน ก.ค.นี้

รายงานข่าวจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า สำหรับแผนฟื้นฟูฯ นั้น ขณะนี้ได้จัดทำรายละเอียดแผนฟื้นฟูฯ เสร็จแล้ว ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. และกระทรวงคมนาคมขณะเดียวกันอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หากผ่านความเห็นชอบคาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน ก.ค.นี้

.

ทั้งนี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่ขสมก.จะต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูมีดังนี้

 

1.การลดค่าครองชีพของประชาชนโดยปรับลดอัตราค่าโดยสารให้ถูกลงจากอัตราเดิม 15-25 บาท ปรับ 3 ลักษณะ คือ

- ตั๋วรายวันในราคา 30 บาทตลอดวัน

สามารถใช้ขึ้นรถเมล์ได้ทุกเที่ยวทุกเส้นทาง

- ตั๋วรายเดือนที่ใช้ขึ้นรถเมล์ได้ทุกสายทุกเส้นทางเช่นกัน

แต่เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่วันละ 25 บาทเท่านั้นและ

- ตั๋วที่จ่ายตามการใช้บริการจริง กรณีที่ผู้โดยสารใช้บริการในเส้นทางสั้น ๆ หรือวันละไม่เกิน 30 บาท

รวมถึงมีการออกบัตรส่วนลดให้กับบุคคลกลุ่มต่าง ๆ เช่น นร. นศ. และผู้สูงอายุ เป็นต้น ทั้งนี้จากผลการศึกษาระบุว่าการปรับลดค่าโดยสารเหลือวันละ 30 บาทจะทำให้ประชาชนได้รับผลต่างค่าใช้จ่ายที่ลดลงไม่น้อยกว่า 20 บาทต่อคนต่อวัน

 

2. ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถไม่ให้ทับซ้อนกัน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนถนน ซึ่งปัจจุบัน ขสมก.มีเส้นทางเดินรถเดิม 269 เส้นทางจากนี้ไปได้ปฏิรูปเส้นทางเดินรถเหลือเพียง 162 เส้นทาง แบ่งเป็นของขสมก. 108 เส้นทาง และของผู้ประกอบการเอกชนร่วมบริการผู้ได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 54 เส้นทาง โดยรูปแบบรถเมล์ที่นำมาให้บริการจะเป็นรถปรับอากาศ (แอร์) ทั้งหมด ยกเลิกรถเมล์ร้อน ซึ่งรถแอร์จะมีขนาด 10-12 เมตร มีทั้งสีฟ้า และสีขาว ภายในรถจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี และผู้พิการคาดว่าเริ่มต้นมีรถแอร์ให้บริการได้ในเดือน มี.ค. 64 และจะส่งมอบรถได้ครบทั้งหมดภายในเดือน ก.ย. 2565

3. การลดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยขสมก.ต้องใช้รถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การใช้รถเอ็นจีวี หรือรถไฟฟ้า (อีวี)

4. ขสมก.ต้องแก้ปัญหาการขาดทุนอย่างยั่งยืน โดยหากดำเนินการตามแผนฟื้นฟูภายใน 7 ปี ขสมก.จะพ้นภาวะขาดทุน ซึ่งปัจจุบัน ขสมก.มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ประสบผลการขาดทุนมาโดยตลอด ขาดสภาพคล่องทางการเงิน มีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 29 ก.พ. 63 พบว่ามีหนี้สะสมรวม 129,507.311 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีรถโดยสารที่มีอายุใช้งานมานานมากกว่า 20 ปี เกิดสภาพชำรุด ทรุดโทรม ต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงรักษาสูงตามสภาพรถโดยสารเก่าและบางคันจอดเสียไม่สามารถซ่อมได้ ทำให้จำนวนรถไม่เพียงพอต่อการให้บริการอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ขสมก.มีพนักงานทั้งหมด จำนวน 13,961 คน เบื้องต้นได้มีโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) สามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือจะปรับเปลี่ยนตำแหน่งงาน โดยเฉพาะพนักงานเก็บค่าโดยสารที่อนาคตรถโดยสารจะมีระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (อีทิคเก็ต) หากต้องการทำงานต่อก็สามารถฝึกทักษะเป็นพนักงานขับรถที่ขาดแคลนอยู่ได้ เพราะรถ 1 คันต้องใช้พนักงานขับรถถึง 3 คน ซึ่งล่าสุดมีพนักงานเก็บค่าตั๋วโดยสาร 5,781 คน

 

 5. การขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐ (PSO) จำนวน 9,674 ล้านบาท  จะทำให้ขสมก.เลี้ยงตนเองได้ โดยในปีต้นๆ ขสมก.อาจจะมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย แต่เมื่อครบ 7 ปีแล้วมั่นใจว่าขสมก.จะมีรายได้มากกว่ารายจ่ายแน่นอน  นอกจากนี้ยังต้องนำที่ดินอู่จอดรถ เปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดินในระยะยาว ซึ่งบริเวณอู่รถโดยสารบางเขนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเพราะอยู่ในแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวผ่าน

 

สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปัจจุบันมีหนี้สินสะสมอยู่ 176,000 ล้านบาท ในแต่ละปีได้ดำเนินการกู้เงินมาใช้จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการในปี 62 ขาดทุน 21,000 ล้านบาท ทั้งนี้ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)ให้ฟื้นฟูกิจการของ รฟท. ระหว่าง พ.ศ.2561-2570 การเพิ่มขีดความสามารถ โดยรัฐบาลได้เข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ ของรฟท.

ขณะเดียวกันแผนฟื้นฟูของรฟท.นั้น ต้องเปิดช่องให้ขึ้นค่าโดยสารจากปัจจุบันที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2539 ที่กำหนดอัตราขั้นต่ำชั้นที่ 1 คนละ 6 บาท ชั้นที่2 คนละ 4 บาท และชั้นที่ 3 คนละ 2 บาท กรณีแรกปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารขั้นต่ำเป็น 10 บาท เฉพาะชั้น 3 ในระยะทางที่กำหนด และปรับค่าโดยสารทุกชั้นเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 จะทำให้มีรายได้ 760 ล้านบาทต่อปี กรณีที่สองปรับอัตราเริ่มต้นคนละ 10 บาททุกชั้นและปรับโครงสร้างค่าโดยสารทุกชั้นเพิ่มอีกร้อยละ 50 ทำให้การรถไฟรายได้เพิ่ม 1,115 ล้านบาทต่อปี

 

ด้านบุคลากรนั้นควรรับคนเพิ่มอีก 19,241 คน เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งให้ตั้งบริษัทลูก บริษัท บริหารทรัพย์สิน จำกัด เข้ามาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของการรถไฟรวม 3.9 หมื่นไร่ เช่น  สถานีกลางบางซื่อพื้นที่การพัฒนา 1,100 ไร่ สถานีมักกะสันพื้นที่การพัฒนา 497 ไร่ ซึ่งสถานภาพของพนักงานของบริษัทลูกยังเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจาก รฟท. ถือหุ้น 100%

 

อย่างไรก็ตามหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคมอีกหลายหน่วยงานที่มีปัญหาในการบริหารจัดการ และมีหนี้สินจำนวนมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เสนอแผนฟื้นฟูให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาแล้ว ทั้งนี้หาก ครม. เห็นชอบแผนฟื้นฟู คาดว่าภายใน 7 ปี ขสมก.จะสามารถฟื้นจากการประกอบกิจการที่ขาดทุนได้ ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส. )  นั้น อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ ต่อไป