ยางใต้ร้องรัฐชดเชย “ยางแผ่นรมควัน” 2 บาท/กิโลกรัม

25 พ.ค. 2563 | 11:50 น.

เครือข่าย กยท.ภาคใต้ ร้องระงมขอรัฐชดเชยยางแผ่นรมควัน 2 บาท/กก. หลังแบกขาดทุนยับ แข่งสู้พ่อค้าไม่ไหว ผวาลามชิ่งกระทบชาวสวนหนัก

นายสุรัตน์ เทือกสุบรรณ รองประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศ  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในขณะนี้ทางเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ ทั้ง 3 เขต ได้แก่ ภาคใต้ตอนบน,ตอนกลาง,ตอนล่าง) มีความเห็นพ้องกันว่าจะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้จ่ายชดเชยต้นทุนการผลิตแปรรูปยางรมควัน 2 บาท/กิโลกรัม ในเบื้องต้นได้มีการมอบหมายให้ให้ช่วยกันจัดเตรียมข้อมูลการแปรรูปยางรมควัน ของสมาชิกสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในสังกัดเพื่อนำเสนอโครงการขอชดเชยแปรรูปยางรมควัน เพราะความจริงเรื่องดังกล่าวนี้อำนาจในการตัดสินใจน่าที่จะเป็นบอร์ด กยท. มองว่าไม่ได้มองตรงนี้เลย ทุกวันนี้สถาบันเกษตรกรย่ำแย่มาก

ยางใต้ร้องรัฐชดเชย “ยางแผ่นรมควัน” 2 บาท/กิโลกรัม

แต่ก็ถือว่าเป็นมิติใหม่ที่จะให้แข่งกับพ่อค้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าสู้ไม่ได้ เพราะราคาอยู่ที่พ่อค้ากำหนด เพราะถ้าเกษตรกรรวมกลุ่มกันทำได้แล้ว จะทิ้งระยะราคาระหว่างน้ำยางสดกับยางแผ่นรมควัน จะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการผลิต ทั้งที่จริงยางแผ่นรมควันนิยมใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางล้อ ท่อยาง สายพาน  จะเก็บรักษายางในรูปอัดก้อน  ทั้งราคายางตกต่ำ ผสมกับต้นทุนการผลิตที่สุูง จึงส่งผลทำให้สถาบันเกษตรกรอยู่กันไม่ได้ ดังนั้นทางเครือข่ายฯขอความเห็นใจจาก บอร์ด กยท.ให้ช่วยต้นทุนการผลิตยางแปรูปรมควัน 2 บาท ต่อกิโลกรัม เพราะหากช่วยตรงนี้จะไปถึงเกษตรกรที่เป็นสมาชิก เพราะถ้าสถาบันไม่ไหว ก็ต้องไปถึงเกษตรกรแน่นอน เพราะที่มาของการเกิดสถาบันยางพารา ก็คือการรวมตัวของ “เกษตรกร”

 

 

ในที่มีการรวมตัวเคลื่อนไหว ก็ยอมรับว่าไม่เต็ม100% มีเกรงใจผู้บริหารสูงสุด เพราะเครือข่ายฯ ขึ้นตรงกับ กยท. ทั้งที่จริงการเรียกร้องในครั้งนี้ไม่อยากให้เอิกเกริก เพราะรู้จักกันหมด  แต่ว่าข้างบนน่าจะเห็นใจเกษตรกร เพราะเกษตรกรก็ต้องมาถามผู้นำ อย่างพวกผม โดยเฉพาะเรื่องราคายางพารา แก้ไม่ได้ แก้ไม่ตรงจุด แม้แต่ประกันรายได้ยางพาราเกิดปัญหาเพียบ แต่ถ้าเกษตรกรที่แท้จริงแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ต้องไม่ใช่แบบนี้ เพราะหากรัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้ต่อเนื่อง ก็ไม่มีวันที่พ่อค้าจะขึ้นราคายางให้ สุดท้ายกรรมก็ตกกับเกษตรกรทั้งขึ้นล่อง ดังนั้้นอยากให้ผู้ใหญ่คุยกับพ่อค้าอย่าเอาเปรียบชาวสวนยาง เพราะการผลิตล้อยางรถไม่ได้ลดการผลิตเยอะมาก ฝ่ายบริษัทยังซื้อราคาสูงอยู่ พวกผมทราบ แต่ไม่ค่อยมีใครอยากจะพูด