ถล่ม4พรก.ยํ้าปมสร้างหนี้พุ่ง สภาฯเคาะอภิปรายมาราธอน5วันรวด

25 พ.ค. 2563 | 03:20 น.

สภาฯเคาะเปิดอภิปราย 5 วันรวด 4 พ.ร.ก.สู้โควิด ฝ่ายค้านจ้องถล่ม “กู้ 1 ล้านล้าน” ยํ้าของตาย “สร้างหนี้ลูกหลาน-ปิดทางตรวจสอบ” ก้าวไกลยื่นญัตติตั้งกมธ.ฯตามสอบระยะยาว นายกฯลั่นพร้อมนำทีมชี้แจงด้วยตนเอง

สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จากมติด้านการสาธารณสุข ที่ไทยโชว์ศักยภาพคุมโรคอยู่หมัด จนทั่วโลกชื่นชม และการบริหารจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้ประคองตัวและปรับสู่วิถีปกติใหม่แล้ว เวลานี้เริ่มนับถอยหลังสู่การเปิดสังเวียนในสภาผู้แทนราษฎร วิป 2 ฝ่ายตกลงเปิดอภิปราย 3 พ.ร.ก.กู้เยียวยาโควิด 5 วันรวด 27-31 พ.ค.นี้ ฝ่ายค้านยํ้าของตาย“สร้างหนี้ลูกหลาน ขาดการตรวจสอบ เปิดช่องโกง”

 

เคาะเปิดอภิปรายพ.ร.ก.5 วัน

ทันทีที่เปิดสมัยประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 1/2563 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ที่อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เชิญนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน และวิป 2 ฝ่าย หารือถึงการประชุมสภาฯในสถานการณ์โรคโควิด-19 และวาระสำคัญคือ กำหนดกรอบเวลาการอภิปรายร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หลาย ฉบับซึ่งต้องให้สภาฯพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วเมื่อเปิดสมัยประชุม

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงผลการประชุมร่วมว่า ที่ประชุมมีมติให้ร่วมพิจารณา พ.ร.ก.3 ฉบับพร้อมกัน โดยเริ่มพิจารณาวันที่ 27 พฤษภาคม หลังหารือ 1 ชั่วโมงจากนั้น 10.30 น.รัฐบาลเสนอหลักการและเหตุผลของ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับด้านการเงิน และให้สิ้นสุดการอภิปรายและลงมติก่อน 15.00 น.ของวันที่ 31 พฤษภาคม รวม 5 วัน

จากนั้นเป็นการพิจารณา พ.ร.ก.ฉบับที่ 4 พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 โดยให้เสร็จก่อนเวลา 20.00 น. ในวันดังกล่าว ส่วน พ.ร.บ.โอนงบ จะพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป

ก่อนหน้านี้นายวิรัชระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมตัวชี้แจงร่างพ.ร.ก.ทั้งหมดด้วยตนเอง

 

ฝ่ายค้านโวย“ปิดทางตรวจสอบ”

ด้านนางสาวศิริอัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การออกพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับที่มีวงเงินสูงขนาดนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่สภาต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบพ.ร.ก.ให้คลังกู้เงินที่ผ่านๆ มา จะระบุชัดเจนว่า ต้องให้สภาเห็นชอบกรอบการใช้จ่ายก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้ แต่ว่าสำหรับพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านนี้ไม่มีกำหนด คือใช้จ่ายไปเลย ปิดทางการตรวจสอบของสภา

ก่อนหน้านี้พรรคเสนอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน แต่รัฐบาลไม่สนใจไม่แยแส และไม่เพียงเรื่องกรอบการใช้จ่าย ยังมีเรื่องรายละเอียดการใช้จ่าย ที่สภาไม่มีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบได้เลย บอกแต่ว่าให้มารายงานเรื่องรายละเอียดการกู้เงิน วัตถุประสงค์การใช้จ่าย ผลสัมฤทธิ์ที่คาดจะได้เท่านั้น ไม่ระบุเลยว่านำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง ปิดทางสภาตรวจสอบทั้งที่ใช้เงินมหาศาล

นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้าน จะร่วมกันผลักดันตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ และมาตรการต่างๆ ที่ใช้ในการแก้ปัญหาโควิด โดยทางพรรคก้าวไกลจะยื่นญัตติด่วนเข้าสภา เพื่อเป็นกลไกดังกล่าวเพื่อการตรวจสอบต่อไปในระยะยาวควบคู่ไปด้วย
 

คลังพร้อมชี้แจงทุกประเด็น

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยถึงการอภิปรายพระราชกำหนดของฝ่ายค้านในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้กำชับประเด็นใดเป็นพิเศษ โดยมีการเตรียมข้อมูลชี้แจงฝ่ายค้านในประเด็นเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินกู้ที่นำมาเยียวยาและฟื้นฟูการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีแผนและกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนโปร่งใส มีคณะกรรมการกลั่นกรอง สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนทำให้ไม่มีความกังวล ในประเด็นการชี้แจงต่อฝ่ายค้าน

ถล่ม4พรก.ยํ้าปมสร้างหนี้พุ่ง สภาฯเคาะอภิปรายมาราธอน5วันรวด

เปิด4พ.ร.ก.เยียวยาโควิด1.9ล้านล้าน

4 พ.ร.ก.ที่รัฐบาลเสนอเข้าบรรจุระเบียบวาระให้สภาฯพิจารณาให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (หรือพ.ร.ก.กู้ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท) มีเงื่อนไขการใช้ 3 กรณีคือ 1.แก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 2.ช่วยเหลือเยียวยาชดเชยประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบ และ3.ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

2. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (หรือพ.ร.ก.ซอฟต์โลนให้เอสเอ็มอี) วงเงิน 5 แสนล้านบาท 3. พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศพ.ศ. 2563 (หรือพ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้) วงเงินอีก 4 แสนล้านบาท รวม 1.9 ล้านล้านบาท แต่มีเพียงฉบับแรกที่ให้กู้ 1 ล้านล้านบาท ส่วนฉบับที่ 2 และ 3 ใช้สภาพคล่องของธปท.มาดำเนินการ ทั้ง 3 ฉบับประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 19 เมษายน 2563

วันเดียวกันรัฐบาลออก พ.ร.ก.อีกฉบับคือพ.ร.ก.ว่า ด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอ นิกส์ พ.ศ. 2563 รับรองให้การประชุมกรรมการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รับรองให้นับเป็นองค์ประชุมได้ เพื่อรองรับมาตรการอยู่บ้านหยุดเชื้อ เปลี่ยนเป็นการทำงานจากที่บ้านผ่านสื่ออิเล็ก ทรอนิกส์ (เวิร์ก ฟรอม โฮม) ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

ทั้งนี้ การออกพ.ร.ก.ทำให้รัฐบาลมีเครื่องมือเข้าไปเยียวยาประชาชนและสถานประกอบการได้อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดเชิ้อโควิด-19 หากฝ่ายค้านชี้ประเด็นในการอภิปรายได้ไม่ชัดเจน ถูกมองว่าตีรวนเพียงเพื่อขัดขารัฐบาลและทำให้การเยียวยาเกิดความล่าช้า กระแสอาจตีกลับใส่ฝ่ายค้านเสียเอง

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3577 วันที่ 24-27 พฤษภาคม 2563