“วัคซีนกาฬโรคม้า” ล็อต 2 มาแล้ว

22 พ.ค. 2563 | 13:40 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์เร่ง ฉีด“วัคซีนกาฬโรคม้า” ล็อต 2 ทุกพื้นที่เสี่ยง หวังกำจัดโรคโดยเร็ว  แต่หากมีม้าตายเพิ่มให้โทรแจ้งสายด่วนทันที

ความคืบหน้าการป้องกันและควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าว่าเนื่องด้วยประเทศไทยช่วงนี้ได้ย่างเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้มีแมลงพาหะเพิ่มจำนวนมากขึ้น อีกทั้งจากข้อมูลทางระบาดวิทยาทางการสัตวแพทย์พบว่า พายุฝนสามารถพาแมลงที่เป็นพาหะโดยเฉพาะตัวริ้น ไปไกลได้ถึง 150 กิโลเมตร ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า 

 

“วัคซีนกาฬโรคม้า” ล็อต 2 มาแล้ว

วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยถึงกรมปศุสัตว์จึงได้มีการการนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมจำนวน 4,000 โดส วันนี้กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเบิกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าให้แก่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงไปฉีดให้แก่ม้าในพื้นที่เพื่อป้องกันโรค เนื่องจากโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นโรคที่ทำให้ม้าที่ได้รับเชื้อมีอัตราการตายสูง เกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่นำมาใช้เป็นวัคซีนเชื้อเป็น (LIVE ATTENUATED VACCINE) ชนิด  TRIVALENT ที่ประกอบด้วย SEROTYPE 1,3 และ 4 นำเข้าจากประเทศแอฟริกาใต้ ในการฉีดวัคซีนเจ้าของม้าต้องมีการเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้

1.นำม้าเข้ามุ้งตาถี่ 32 ตา ก่อนเจาะเลือด 3 วัน และหลังการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 30 วัน

2.ใช้ยาฆ่าแมลงกลุ่ม ALPHACYPERMETHRIN, PYRETHROID หรือยาฆ่าแมลงกลุ่มอื่นที่เหมาะสมรมควันหรือพ่นมุ้ง และใช้ยาไล่แมลง ETOFENPROX หรือยาฆ่าแมลงกลุ่มอื่นที่เหมาะสมพ่นบนตัวม้าและมุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงกัดม้า และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลง เช่น มูลม้า เป็นต้น โดยการทำความสะอาดทำให้สถานที่เลี้ยงม้าแห้งอยู่เสมอ ไม่มีแหล่งน้ำขังชื้นแฉะ และใช้ยาฆ่าแมลงที่เหมาะสม เช่น CYPERMETHRIN

3. หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ

จากนั้นเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะเข้าไปดำเนินการฉีดวัคซีนโดยมีขั้นตอนดังนี้ 1.ขึ้นทะเบียนม้าทุกตัว โดยฝังไมโครชิพ และลงข้อมูลในฐานข้อมูล NID         2.เก็บตัวอย่างเลือดม้าส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจดูการติดเชื้อ 3.ดำเนินการฉีดวัคซีนในสัตว์ที่ไม่พบการติดเชื้อ และติดตามอาการข้างเคียงภายหลังจากฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 72 ชั่วโมง (หากแสดงอาการข้างเคียง ให้ดูแลรักษาตามอาการ) ในกรณีที่ม้าตั้งท้องให้พิจารณาการให้วัคซีนตามดุลยพินิจจากสัตวแพทย์ผู้ทำการฉีด

4.หลังจากฉีดวัคซีนภายใน 1 เดือน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะเข้าไปเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีน หากพบมีระดับภูมิคุ้มกันไม่อยู่ในระดับที่ป้องกันโรคได้ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ

“วัคซีนกาฬโรคม้า” ล็อต 2 มาแล้ว

ดังนั้นจึงขอความร่วมมือเจ้าของม้าทุกท่านให้เตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนตามมาตรการที่กล่าวข้างต้น เพื่อที่จะให้การควบคุม และกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าให้หมดจากประเทศไทยโดยเร็วและขอคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกต่อไป

“วัคซีนกาฬโรคม้า” ล็อต 2 มาแล้ว

อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยเพิ่มเติมว่าสำหรับสถานการณ์โรคในปัจจุบันนั้นจากการที่กรมปศุสัตว์ร่วมกับทุกภาคส่วนเข้าไปควบคุมโรคทำให้สถานการณ์การเกิดโรคอยู่ในวงจำกัด จากข้อมูลวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ไม่พบม้าป่วยตายในทุกจังหวัด แต่อย่างไรก็ตามเจ้าของม้าไม่ควรประมาท ขอให้ดำเนินการการควบคุมและป้องกันโรคอย่างครบถ้วนตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อันได้แก่ การป้องกันแมลง และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลง

การทำมุ้งป้องกันแมลงต้องใช้มุ้งขาวตาถี่ 32 ตา อีกทั้งยังต้องมีการจัดการสุขภิบาลในฟาร์มเพื่อเป็นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงที่เป็นพาหะ และหากพบม้ามีอาการป่วยหรือตาย ขอให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์ใกล้บ้าน หรือสายด่วนแจ้งโรค    063-225-6888 หรือ แอพลิเคชั่น DLD 4.0 เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีต่อไป