กกพ. อัดสุดลิ่ม 2.8 หมื่นล. ฝ่าโควิด ยันปลดล็อกค่า Ft ไม่พุ่ง

23 พ.ค. 2563 | 02:15 น.

สารพัดมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า จากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงพลังงาน ที่มอบหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย จำนวนประมาณ 22 ล้านราย ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมกว่า 1 ล้านราย เพื่อประคับประคฟองให้ผู้ใช้ไฟฟ้าก้าวข้ามผ่านวิกฤตไปให้ได้

สำหรับมาตรการลดผลกระทบครั้งนี้ เป็นการนำเงินบริหารค่าไฟฟ้าจาก 3 การไฟฟ้า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มาใช้ในการช่วยเหลือทั้งหมด จากปกติจะใช้เงินส่วนนี้ไป เพื่อบริหารจัดการค่าเอฟทีเป็นหลัก แต่เมื่อประชาชนมีความเดือดร้อน ก็มีความจำเป็นต้องนำแบ่งเบาภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในสถานการณ์ที่วิกฤตินี้ 

 

กกพ.ดูแล 3 มาตรการ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการกำกับของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ได้เข้ามาดูแลไม่ว่าจะเป็น มาตรการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 3% กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นเวลา 3 เดือน(เมษายน-มิถุนายน 2563) การยกเว้นเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3-7 เป็นเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน)

ที่สำคัญมาตรการลดค่าไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยจำนวน 23 ล้านราย ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ให้ใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 150 หน่วย หากเกินจากนี้ให้ใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นฐานในการอ้างอิง เช่น หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ให้จ่ายค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงในเดือนนั้นๆ แต่หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ แต่ไม่ถึง 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้น

 

ใช้เงิน2.84 หมื่นล.อุ้ม   

นายคมกฤช กล่าวว่า เงินที่นำมาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 นี้จะต้องใช้เงินช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนราว 2.84 หมื่นล้านบาท ไม่ได้เป็นงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นเงินจากกิจการของ 3 การไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่กกพ.มีอำนาจหน้าที่ดูแล เงินบริหารค่าไฟฟ้าที่รวบรวมได้จากการกำกับฐานะการเงิน เงินส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน เงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ในช่วงปี 2557-2562 รวมทั้งเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน


กกพ. อัดสุดลิ่ม  2.8 หมื่นล. ฝ่าโควิด ยันปลดล็อกค่า Ft ไม่พุ่ง

มีพอช่วยเหลือแค่มิ.ย.

สำนักงาน กกพ. ประเมินว่า วงเงิน 28,450 ล้านบาท จะมีเพียงสำหรับการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียง 4 เดือน (มีนาคม-มิถุนายน 2563) เท่านั้น ซึ่งหากมีมาตรการอื่นเพิ่มเติม ที่อยู่ภายใต้การกำกับของกกพ. จะไม่มีเงินเหลือมาช่วยเหลือได้ เนื่องจากได้เงินเรียกคืนสำหรับบริหารค่าไฟฟ้าของทั้ง 3 การไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายช่วงปลายปีมารวมอยู่ในนี้แล้ว และเงินจำนวนนี้จะไม่มีผลต่อการไปเรียกเก็บเป็นค่าไฟฟ้าหรือค่าเอฟทีในอนาคต

ดังนั้น หากสถานการณ์โควิด -19 ลากยาวเกินกว่าเดือนมิถุนายน 2563 มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวคงไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก และคงต้องกลับไปใช้ค่าไฟฟ้าตามเดิมไม่มีการตรึงค่าเอฟทีอีก แต่ค่าเอฟทีคงจะไม่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่ราคาเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ที่อิงกับราคาน้ำมันย้อนหลังไป 6 เดือน จะมีราคาถูกลงมาช่วยค่าเอฟทีไม่ปรับเพิ่มขึ้นได้ หรืออยู่ที่ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ประกอบกับ กกพ.มีการบริหารจัดการที่ได้เห็นชอบให้บริษัท ปตท.และกฟผ.นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในรูปแบบราคาตลาดจร ซึ่งมีราคาถูก มาทดแทนการใช้ก๊าซฯในอ่าวไทยได้ส่วนหนึ่งด้วย

“ราคาต้นทุนเชื้อเพลิงที่เป็นอยู่ในขณะนี้น่าจะทำให้วางใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องดูอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะมีผลโดยตรงต่อราคาซื้อขายก๊าซค่อนข้างมาก แม้ช่วงนี้แอลเอ็นจีในตลาดโลกมีราคาถูกลงมาก จำเป็นต้องผสมผสานการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากในตลาดจร และราคาก๊าซในอ่าวไทยให้เกิดความเหมาะสม และต้องบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง เพราะไม่สามารถคาดเดาราคาก๊าซธรรมชาติในระยะต่อไปได้ว่าจะแพงขึ้นหรือไม่ ” 

อุ้มต่อเป็นภาระประชาชน

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าต่อเนื่องไป ก็คงเป็นเรื่องระดับนโยบายที่จะต้องไปพิจารณาในการตัดรายได้ของ 3 การไฟฟ้า ที่นำส่งกระทรวงการคลังมาช่วยเหลือ แต่รัฐบาลจะยอมหรือไม่ หรือใช้มาตรการพยุงค่าไฟฟ้าไว้ก่อน ซึ่งจะมีผลให้ค่าไฟฟ้าในรอบต่อไปสูงขึ้น เพราะเงินที่นำมาอุ้มค่าไฟฟ้าจะถูกนำไปรวมค่าเอฟทีในรอบต่อๆไป เป็นภาระผู้ใช้ไฟฟ้าตามมาอีก

“กกพ.มองว่า ทางออกที่ดีที่สุดเวลานี้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะร่วมมือใช้เท่าที่จำเป็นได้อย่างไร หรือลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง ไม่ใช่พอมีมาตรการช่วยเหลือแล้วใช้กันอย่างไม่ประหยัด ต้องเข้าใจว่าการผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนไม่ได้มาฟรีๆ หากทุกคนร่วมกันใช้ไฟฟ้าให้น้อยลง ก็จะทำให้มีเงินเหลือในการรับมือโควิด-19 ออกไปอีกระยะหนึ่งได้ หรือว่าจะกลับมาจ่ายค่าไฟฟ้าตามเดิม ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกได้ ไม่ใช่หวังพึ่งรัฐบาลแก้ปัญหาเพียงฝ่ายเดียว” นายคมกฤช กล่าวทิ้งท้าย

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,576 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563