เปิดโผ11กลุ่มสินค้าพุ่งแรง  ขี่กระแสโควิดโตต่อเนื่อง

17 พ.ค. 2563 | 08:30 น.

กระทรวงอุตฯเปิดโผ 11 กลุ่มอุตสาหกรรมขี่กระแสโควิดดันมีโอกาสโตต่อเนื่อง  จับตา อาหารสำเร็จรูป ข้าว มัน ไก่ น้ำตาล สิ่งทอ น้ำยางข้น ถุงมือยาง เหล็ก ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ชักแถวฟื้น

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบให้หลายอุตสาหกรรมต้องประสบกับภาวะวิกฤติในการทำธุรกิจ ทั้งจากปัญหาการส่งออกที่หดตัว การนำเข้าวัตถุดิบที่ยังติดขัด การขาดสภาพคล่อง และอื่นๆ แต่ในวิกฤติย่อมมีช่องทางโอกาสเสมอ

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาห กรรม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมที่ได้โอกาสภายใต้วิกฤติโควิด-19 มีอย่างน้อย 11 รายการ ประกอบด้วย อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารกระป๋องต่างๆ ซึ่งมีการขยายตัว จากความเชื่อมั่นด้าน Food Safety อายุการเก็บรักษา ตลอดจนความสะดวกในการขนส่งและกระจายสินค้า

 

สินค้าข้าว ได้รับอานิสงส์ในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ผู้บริโภคชาวเอเชียในสหรัฐฯ รวมถึงในทวีปแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แองโกลา แอฟริกาใต้ ที่มีความต้องการเพิ่ม, ผลิตภัณฑ์มันเส้นมีความต้องการมากเพื่อรองรับการผลิตแอลกอฮอล์ 70% สำหรับใช้ในการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาด, ผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง จากสถานการณ์โควิดในจีนเริ่มคลี่คลาย สต๊อกสินค้าไก่ลดลง ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น 

 

สินค้าน้ำตาล จากประเทศคู่ค้าของจีนมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากไทยแทนจีน และปัจจัยบวกจากอินโดนีเซียที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าและเพิ่มโควตานำเข้าน้ำตาลให้แก่ประเทศคู่ค้ารวมทั้งไทยด้วย, กลุ่มสิ่งทอมีตลาดใหม่ที่นอกเหนือจากการนำไปผลิตเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะเส้นใย ผ้าผืน ที่มีคุณสมบัติพิเศษ และผ้า Non-woven ที่ถูกนำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE เป็นต้น นอกจากนี้มีผู้ประกอบการสิ่งทอหลายแห่งใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้าไปรองรับ ความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตสินค้าที่ มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป

 

อย่างไรก็ดี ยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการผลิตผ้า Non-woven Fabric โดยเฉพาะผ้าชนิด Melt blown สำหรับเป็นวัตถุดิบผลิตหน้ากากอนามัยและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ประเภท อื่นๆ โดยบีโอไอเตรียมให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

เปิดโผ11กลุ่มสินค้าพุ่งแรง   ขี่กระแสโควิดโตต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง แม้ไทยจะส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐมไปจีนได้ลดลง แต่มีความต้องการและมีคำสั่งซื้อน้ำยางข้น เพื่อผลิตถุงมือยางจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นมาชดเชย  ทำให้ในอนาคตผู้ผลิตน้ำยางข้นจะมีตลาดที่หลากหลายลดการพึ่งพิงตลาดจีนลง และช่วยรักษาเสถียรภาพราคา ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา จากโควิด-19 ทำให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้น

 

อุตสาหกรรมเหล็ก โดยเหล็กแผ่นชนิดเคลือบดีบุก (Tin plate) และเคลือบโครเมียม (Tin free plate) ที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะอาจได้รับอานิสงส์จากการผลิตอาหารกระป๋องที่คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากจีนเริ่มกลับมาเปิดเมืองผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ที่เป็นซัพพลายเชน ที่เกี่ยวข้องกับจีนมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น ส่วนสินค้าที่พึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นในสัดส่วนที่สูงจะต้องมีการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับตลาดที่ซบเซายาวนาน เช่น แผงวงจรไฟฟ้า (PCB) ส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3575 วันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563