โควิดกระทบหนัก10อุตฯ ซัดส่งออกวูบรอวันฟื้น

12 พ.ค. 2563 | 02:00 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมเผยผลกระทบเชิงลบโควิดต่อ 10 อุตสาหกรรมสำคัญทั้งอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ การนำเข้าวัตถุดิบ คำสั่งซื้อชะลอตัว ส่งผลยอดส่งออกยังอยู่ในแดนลบจับตาเหล็กจีนทะลักไทยเพิ่ม สารเคมีแปรรูปยางราคาพุ่ง

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจทั่วโลก  โดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อส่งออกต่างต้องประสบปัญหาเรื่องการขนส่ง หรือโลจิสติกส์ และด้านอื่นๆ มีอย่างน้อยถึง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมของไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนในเวลานี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบได้แก่ 1. อุตสาหกรรมอาหาร โดยปริมาณการส่งออกสินค้าอาหารสด เช่น ผลไม้สด และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง หดตัวลง จากการยกเลิกเที่ยวบิน การขนส่งทางเรือใช้เวลาในการขนส่งนานขึ้น ตลอดจนการรอผ่านศุลกากร ทำให้เกิดการเน่าเสียของสินค้าได้ง่ายขึ้น ส่งผลผู้นำเข้ามีการชะลอคำสั่งซื้อ

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จากผู้ประกอบการหลายแห่งอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ผ้าผืนบางส่วนจากจีน ซึ่งไม่สามารถส่งออกมายังไทยได้ หรือยังติดขัด 3. อุตสาห กรรมยางแปรรูปขั้นปฐมได้รับผลกระทบมากขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา จากยังไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มเข้ามา ขณะที่สต๊อกเดิมก็ยังระบายออกได้ไม่หมดทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งประสบปัญหาพื้นที่สต๊อกเต็ม ไม่สามารถซื้อยางใหม่เข้ามาแปรรูปได้อีก และระยะต่อจากนี้อาจกระทบจากการปรับขึ้นราคาสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากจีน 

โควิดกระทบหนัก10อุตฯ  ซัดส่งออกวูบรอวันฟื้น

4. อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ การส่งออกหดตัว ทั้งอุปสรรคจากโควิด-19 การขนส่งสินค้าที่ได้รับผล
กระทบจากการยกเลิกเที่ยวบิน และการปิดประเทศ 5.อุตสาหกรรมเหล็ก ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ และจากโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศหยุดสายการผลิตชั่วคราว ความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดลง ในระยะต่อไปหากระบบโลจิสติกส์ของจีนฟื้นตัวเป็นปกติ ไทยอาจประสบปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าเหล็กจากจีนที่รุนแรงขึ้นใน 3-9 เดือนข้างหน้า 

6.อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  การส่งออกหดตัว จากไทยต้องพึ่งพาตลาดจีนในการผลิตสินค้าบางชนิด ส่งผลกระทบด้านกระบวนการผลิตและส่งมอบสินค้าล่าช้าไปจากกำหนดเดิม 7.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการทำงานที่บ้านของบุคลากร แรงงานต้องสลับกันมาทำงาน กระทบต่อกำลังการผลิตของโรงงานลดลง

8. อุตสาหกรรมยานยนต์  ผู้ผลิตหลายบริษัท เช่น  โตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ ฟอร์ดมาสด้า และนิสสัน  ระงับการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยชั่วคราวจากความต้องการที่ลดลงทั้งในและต่างประเทศ กระทบต่อการลงทุน และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ  9. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มูลค่าการส่งออกลดลง กระทบต่อการลงทุนใหม่ๆ และ 10. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์บางประเภทที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอางได้รับผลกระทบ จากความต้องการของตลาดลดลง  และการระบาดของโควิด-19 ส่งผลความต้องการใช้แอลกอฮอล์สำหรับใช้ในการฆ่าเชื้อ และที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตยาเพิ่มขึ้น ทำให้วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563