ห่วงขยะติดเชื้อจากหน้ากากทิ้งผิดวิธีอาจแพร่ระบาดได้

30 เม.ย. 2563 | 12:21 น.

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยห่วงการทิ้งขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ที่ขณะนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 1.5 – 2 ล้านชิ้นต่อวันยังทิ้งผิดวิธีอาจแพร่เชื้อได้

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า ขยะจากหน้ากากอนามัย เป็นขยะอีกประเภทที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ก็คือ ขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ที่ขณะนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 1.5 – 2 ล้านชิ้นต่อวัน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่ง มีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1.7 ตันต่อวัน (วันละ 1,700 กิโลกรัม)  รวมขยะติดเชื้อที่รวบรวมได้จากสถานพยาบาลต่างๆ และนำไปกำจัดโดยเตาเผาที่มีประสิทธิภาพ ศักยภาพวันละ 50 ตัน ในขณะที่สภาวะปกติมีขยะติดเชื้อ 43 ตันต่อวัน  

 

ที่เป็นปัญหาก็คือการทิ้งขยะติดเชื้อหรือหน้ากากอนามัยรวมไปกับขยะทั่วไป หรือทิ้งในสิ่งแวดล้อม ตามที่พนักงานเก็บขนขยะในพื้นที่ต่างๆ ได้ประสบมา ในส่วนที่ถูกทิ้งไม่ถูกวิธีปะปนอยู่กับประเภทอื่น จะสามารถก่อให้เกิดอันตรายจากการติดเชื้อได้ เนื่องจากหน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งนั้น เป็นขยะติดเชื้อ บางคนอาจติดเชื้อโควิด-19 และอยู่ที่บ้าน หรือติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่แสดงอาการ  

 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำ คือ คัดแยกการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วออกจากขยะทั่วไป ,นำไปทิ้งในถังขยะสีแดง หรือถังขยะอันตราย  หรือถังขยะติดเชื้อหรือเก็บรวบรวมใส่ถุงพลาสติก หรือขวดพลาสติกใสที่ใช้แล้ว  และเขียนว่า “หน้ากากอนามัยใช้แล้ว หรือขยะติดเชื้อ” ฝากทิ้งกับรถเก็บขยะ 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการแยกขยะติดเชื้อ และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปกำจัดด้วยการเผา ด้วยเตาเผาที่มีระบบบำบัดมลพิษในที่ มีอุณหภูมิความร้อนสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ