2 บิ๊กข้าวโลกคัมแบ็ก ไทยพร้อมแข่งเดือด ลุ้นครึ่งหลังฟื้น

01 พ.ค. 2563 | 03:50 น.

รายงาน : 2 บิ๊กข้าวโลกคัมแบ็ก ไทยพร้อมแข่งเดือด ลุ้นครึ่งหลังฟื้น

 

ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก (มีนาคม-เมษายน) เปิดโอกาสให้ข้าวไทยส่งออกได้มากขึ้น จาก 2 ประเทศคู่แข่งหลัก คือ อินเดีย และเวียดนาม ต่างประสบปัญหาภายใน โดยอินเดียจากผลพวงมาตรการล็อกดาวน์หรือปิดเมืองเพื่อคุมเข้มโควิด-19 กระทบต่อการส่งมอบสินค้าที่มีความล่าช้า และกระทบกับการทำสัญญาซื้อขายใหม่ ส่วนเวียดนามได้ระงับการส่งออกชั่วคราวเมื่อปลายเดือนมีนาคม หลังราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และหวั่นไม่เพียงพอต้องเก็บไว้บริโภคในประเทศ

 

แต่เวลานี้สถานการณ์ของทั้ง 2 ประเทศเริ่มคลี่คลาย อินเดียได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่คาดว่าจะสิ้นสุดในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ส่วนเวียดนามรัฐบาลได้อนุมัติให้เริ่มมาส่งออกข้าวได้อีกครั้ง ส่งสัญญาณการแข่งขันการส่งออกข้าวโลกจะกลับมาร้อนแรง อย่างไรก็ดีผู้ส่งออกข้าวยังมองว่าไทยยังมีโอกาสที่ดี เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 

-ราคาข้าวส่งออกลดลง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้อินเดียเริ่มมีการเซ็นสัญญาใหม่ ๆ ในการซื้อขายข้าวกับลูกค้า เพื่อส่งมอบในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน รวมถึงบางรายกำลังเร่งจัดส่งข้าวที่ค้างอยู่ให้ลูกค้า แต่คู่ค้ายังห่วงว่าอินเดียจะสามารถส่งมอบข้าวได้ตรงเวลาหรือไม่ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์จะขยายออกไปอีกหรือไม่ ส่วนเวียดนาม รัฐบาลได้อนุมัติให้ส่งออกข้าวได้อีกครั้ง รวมถึงเงินบาทไทยที่อ่อนค่าลง ทั้งหมดเป็นแรงกดดันราคาข้าวส่งออกของไทยลดลง โดยล่าสุดราคาข้าวขาว 5% ส่งออก(เอฟโอบี) ของไทยที่เคยปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 595 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (เมื่อ 8 เม.ย.63) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ข้าวชนิดเดียวกันจากเวียดนามลดลงมาอยู่ที่ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากช่วงที่เวียดนามแบนส่งออกข้าวราคาพุ่งสูงอยู่ที่ 510 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนข้าวอินเดียขณะนี้ต่ำสุดอยู่ที่ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

 

อย่างไรก็ดีการส่งออกข้าวไทยช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ส่งออกได้ที่ 1.46 ล้านตัน ซึ่งจากเวียดนามและอินเดียมีปัญหาส่งออกคาดในเดือนเมษายนไทยจะส่งออกข้าวได้ดีขึ้นที่ระดับมากกว่า 6 แสนตัน จากเดือนมีนาคม 5.8 แสนตัน โดยข้าวไทยเวลานี้มีลูกค้าสั่งซื้อมากขึ้น แต่ล็อตไม่ใหญ่มากจากทวีปแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แองโกลา ส่วนมาเลเซียก็มีการนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงอินโดนีเซียที่ระบุว่า ผลผลิตข้าวในประเทศยังเพียงพอ ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างน้อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคม แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลังต้องมีการนำเข้าแน่

“ส่วนฟิลิปปินส์ที่มีแผนจะนำเข้าข้าวจำนวน 3 แสนตันแบบจีทูจี (ขณะนี้ได้อนุมัติงบประมาณแล้วประมาณ 8,000 ล้านเปโซ) โดยมอบหมายให้หน่วยงานใหม่ด้านการค้าต่างประเทศดำเนินการแทน NFA ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในรายละเอียด แต่หากเขาเปิดนำเข้าข้าวจีทูจี 3 แสนตันจริง ไทยและเวียดนามน่าจะมีโอกาสมากสุด ภาพรวมส่งออกข้าวไทยปีนี้น่าจะทำได้ 7.5 ล้านตันตามเป้าหมาย โดยการนำเข้าจะมีมากขึ้นในครึ่งปีหลังจากสต๊อกของหลายประเทศจะเริ่มร่อยหรอลง”


2 บิ๊กข้าวโลกคัมแบ็ก  ไทยพร้อมแข่งเดือด ลุ้นครึ่งหลังฟื้น

-ลุ้นจีทูจีฟิลิปปินส์ 3 แสนตัน

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้นซ์ ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศ กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ภาพรวมน่าจะยังขยายตัวไม่มาก เฉลี่ยคงอยู่ที่ระดับ 4-5 แสนตันต่อเดือน จากผลผลิตข้าวไทยมีน้อยและราคาสูง ขณะที่ผู้นำเข้าได้มีการซื้อและมีการส่งมอบไประดับหนึ่งแล้ว คงมีการชะลอเพื่อรอดูสถานการณ์และทิศทางราคา แต่มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกข้าวไทยจะดีขึ้น เชื่อว่าฟิลิปปินส์คงต้องซื้อข้าวแบบจีทูจี 3 แสนตันตามที่ประกาศ ซึ่งไทยมีโอกาสแบ่งกับเวียดนามคนละครึ่ง รวมถึงมาเลเซียเริ่มมีการนำเข้าข้าวเพิ่ม และอินโดนีเซียน่าจะมีการนำเข้าในครึ่งปีหลังเพื่อเป็นเซฟตี้สต๊อก

 

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด กล่าวว่า คำสั่งซื้อข้าวของบริษัทจากต่างประเทศมีเข้ามามากขึ้นในช่วงที่อินเดีย เวียดนามชะลอการส่งออก ขณะที่เวลานี้บริษัทได้รับคำสั่งซื้อข้าวจากจีนในส่วนของข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และปลายข้าวขาว มากขึ้น รวมถึงมีคำสั่งซื้อจากฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยยังเป็นล็อตเล็กๆ 

 

แต่ในส่วนของตลาดใหญ่คือแอฟริกาที่เคยสั่งซื้อจากบริษัทล็อตใหญ่ระดับ 1-2 หมื่นตันต่อเดือนเวลานี้ยังไม่มีมา ผลจากราคาข้าวไทยอาจจะยังสูง แต่เชื่อว่าหลังโควิด-19 คลี่คลายการสั่งซื้อข้าวไทยจะมีเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ปีนี้ผู้ส่งออกต้องระวังตัวมากเป็นพิเศษเพราะคู่ค้าอาจมีปัญหาการเงิน ดังนั้นปีนี้จึงหวังแค่ประคองตัวรอดก็พอแล้ว

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563