เร่งนำเข้าLNG ปตท.ลดภาระค่าไฟฟ้า2สต.

03 พ.ค. 2563 | 02:35 น.

ปตท.กางแผนนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีทั้งปี 6.5 แสนตัน ลดการซื้อในอ่าวไทย ฉวยโอกาสตลาดจรราคาต่ำ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ 2.5 พันล้านหรือ 2 สต.ต่อหน่วย ยันไม่มีค่า Take or Pay เป็นภาระภายหลัง

นโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการให้ค่าไฟฟ้าถูกลง โดยการมอบหมายให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เร่งไปดำเนินการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีจากตลาดจร (Spot) เนื่องจากปัจจุบันมีราคาอยู่ราว 3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบกับราคาก๊าซในอ่าวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู
อีกทั้ง ยังเป็นการลดการใช้ก๊าซในอ่าวไทยหรือสงวนไว้ใช้ในอนาคตให้นานขึ้นอีกทางหนึ่ง ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำร่องนำเข้าในรูปแบบตลาดจร
ไปก่อนหน้านี้แล้ว 2 ลำเรือ รวมปริมาณ 1.3 แสนตัน

สำหรับแผนการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ที่ผ่านมาปตท.ได้รายงานให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกระทรวงพลังงานรับทราบไปแล้ว โดยจะมีแผนนำเข้าในปีนี้ราว 6.5 แสนตันหรือ 10 ลำเรือ เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซในอ่าวไทยได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งได้แจ้งไปยังผู้ผลิตก๊าซแล้ว ว่าจะลดปริมาณการรับซื้อลงมา

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้วางแผนการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ตามนโยบายเร่งด่วนของนายสนธิรัตน์แล้ว โดยเบื้องต้นจะนำเข้าราว 2.6 แสนตัน หรือ 4 ลำเรือ (ลำเรือละ 6.5 หมื่นตัน) โดยได้เริ่มนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในรูปแบบตลาดจรหรือ spot ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมาในปริมาณ 6.5 หมื่นตัน หรือ 1 ลำเรือ ขณะที่เดือนเมษายน ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นผู้นำเข้า 1 ลำเรือ ทางปตท.จึงจำเป็นต้องหยุดนำเข้าในเดือนนี้ไว้ และในเดือนพฤษภาคม 2563 จะนำเข้าอีก 2 ลำเรือหรือ 1.3 แสนตัน และมิถุนายน 1 ลำเรือ หรืออีก 6.5 หมื่นตัน ซึ่งทั้ง 4 ลำเรือนี้ ปตท.ได้เจรจาซื้อล่วงหน้าแล้วได้ราคาเฉลี่ยต่ำกว่า 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ ปตท.วางแผนที่จะนำเข้าแอลเอ็นจีในรูปแบบตลาดจรของปี 2563 ไว้ราว 10 ลำเรือหรือราว 6.5 แสนตัน เป็นอย่างต่ำ ซึ่งในส่วนที่เหลืออีก 6 ลำเรือนั้น ปตท.จะบริหารหรือมอนิเตอร์เป็นรายเดือน เพื่อให้ได้ราคา spot ดีที่สุด และตามปริมาณความต้องการที่อาจจะเพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.ฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเทศมีปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ราว 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่จากการล็อกดาวน์ประเทศ ธุรกิจภาคอุตสาห กรรมบางส่วนหยุดกิจการ ส่งผลให้ปริมาณการใช้ก๊าซลดลงมาอยู่ที่ 4.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งการนำก๊าซแอลเอ็นจีเข้ามาอาจจะ
ถูกมองว่าเกินความจำเป็น แต่ถ้ามองในอีกแง่จะเป็นการส่งผลดีต่อประเทศที่จะนำก๊าซราคาถูกมาใช้ เป็นการสงวนทรัพยากรใช้ก๊าซในประเทศให้ยืดนานออกไปอีก

ที่สำคัญเป็นการช่วยลดต้นทุนต่อผู้ใช้ก๊าซทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง หรือประชาชนทั่วไปที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ที่จะใช้ก๊าซในราคาถูกลง โดยเฉพาะภาคการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงถึง 70% จะมีต้นทุนถูกลง ซึ่งจากการคำนวณตามที่กฟผ.แจ้ง นำเข้ามา 2 ลำเรือหรือ 1.3 แสนตัน จะส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง (Ft) ลดลง 0.42 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ถ้า 10 ลำเรือ หรือ 6.5 แสนตัน จะช่วยลดต้นทุนเอฟทีได้ถึง 2.1 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมของกฟผ.ที่นำเข้ามาแล้ว 2 ลำเรือ เมื่อรวมกันจะลดต้นทุนค้าเอฟทีได้ถึง 2.52 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อค่าไฟฟ้าในปีนี้และปีหน้าปรับตัวลดลงด้วย

หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563