อุตฯดันมาตรการเพิ่มช่วย SMEs  พักชำระหนี้-เติมเงินดอกเบี้ยถูก

30 เม.ย. 2563 | 11:25 น.

 กระทรวงอุตฯเตรียมมาตรการเยียวยาภาคอุตสาหกรรมกระทบโควิด ทั้งด้านผลิต แรงงาน และการขาย เร่งด่วน 3 เดือน ชงผ่อนปรนระยะเวลาชำระภาษีสำหรับนำเข้ามาแล้วไม่มีการผลิต ระยะกลาง 6 เดือนเน้นอำนวยความสะดวกนำเข้า-ส่งออก

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ดำเนินการจัดทำมาตรการ และแนวทางการดำเนินการช่วยเหลือ เยียวยา และลดผล กระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อภาคอุตสาหกรรมไทย โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการผลิต ด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรม และด้านการจำหน่าย

อุตฯดันมาตรการเพิ่มช่วย SMEs  พักชำระหนี้-เติมเงินดอกเบี้ยถูก

ด้านผลิตในระยะสั้น (3 เดือน) กำลังจะเสนอให้มีการผ่อนปรนระยะเวลาการชำระภาษีสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามาแล้วไม่มีการผลิต จากมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้จนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ อาทิ มาตรการพักชำระหนี้เงินต้น การขยายเวลาชำระหนี้ และเติมทุน ดอกเบี้ยถูกเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการลดภาระค่าใช้จ่ายและมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ช่วยรักษาสภาพการจ้างงาน และจัดหาเงินทุนหมุนเวียนสำหรับ
ผู้ประกอบการ เพื่อปรับตัวรับมือผลกระทบเฉพาะหน้า

ระยะกลาง (6 เดือน) กำลังจะเสนอมาตรการอำนวยความสะดวกรองรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้า เพื่อป้องกันปัญหาความล่าช้าในการจัดการกรณีที่จีนสามารถควบคุมโรคได้และเปิดดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ส่วนระยะยาว (1 ปี) จะเสนอให้มีการส่งเสริมการ ลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะเสนอให้มีการจัดหาเงินทุนหมุนเวียนสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อปรับตัวรองรับการฟื้นตัวของตลาด โดย จะเป็นแนวทางทั้งระยะกลางและยาว

ด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก็คือ มาตรการะระยะสั้นด้วยการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการจ้างงานในประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่มีการ shut down ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างในวงกว้าง ส่วนระยะกลาง จะมีการสนับสนนุการนำ Platform Online มาใช้ในการฝึกอาชีพเพิ่มเติมให้แก่แรงงาน ในช่วงที่สถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว หรือกรณีถูกเลิกจ้าง และใช้โครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นกลไกในการสร้างงาน สร้างรายได้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการหยุด กิจการหรือถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะโครงการในระดับพื้นที่ เช่น โครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) โครงการ Hand in Hand ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

นอกจากนี้จะมีการเสนอให้มีการทำงานในสาขาอุตสาหกรรมอื่นที่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกัน โดยสามารถเริ่มทำงานได้ โดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะใหม่กรณีแรงงานประจำ หรือนำแรงงานที่ได้รับผลกระทบไปปฏิบัติงานในโครงการลงทุนพิเศษของภาครัฐ เช่น โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ (ลักษณะเดียวกับโครงการมิยาซาว่ากรณีแรงงานรายวัน) และระยะยาว จะมีการเสนอให้มีการฝึกอบรมแรงงาน Up-skill Re-skill ต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดแรงงานผ่านระบบออนไลน์

ด้านการจำหน่าย ระยะสั้นจะเสนอให้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้ SMEs และสนับสนุนระบบการขนส่งให้มีความปลอดภัยและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะอำนวยความสะดวกให้กับ SMEs ในรูปแบบ platform ที่เป็นตัวกลางให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้ติดต่อกันทั้งในและต่างประเทศ และร่วมมือกับบริษัท logistics ในการกระจาย ผลผลิตทางการเกษตรสู่ผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและทั่วถึง และสนับสนุนให้มีห้องเย็นในภูมิภาค

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรม เกือบ ทุกสาขา กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องดำเนินมาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ”


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

อุตฯดันมาตรการเพิ่มช่วย SMEs  พักชำระหนี้-เติมเงินดอกเบี้ยถูก