ผู้ผลิตน้ำมันดิบอ่วม ยื่นแผนให้รัฐช่วย ชะลอเก็บค่าภาคหลวง

01 พ.ค. 2563 | 00:25 น.

ผู้ผลิตนํ้ามันดิบ 12 รายดิ้นลดต้นทุนหวังต่อลมหายใจ หลังราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกร่วงหนัก ราคาขายตํ่ากว่าต้นทุนการผลิต จ่อยื่นแผนให้ภาครัฐช่วยเหลือสัปดาห์นี้ ขณะที่กระทรวงพลังงานมอง ทำได้ชะลอเก็บค่าภาคหลวง แต่ต้องแก้กฎหมายใช้เวลานาน

 ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยนํ้ามันดิบดูไบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 18.30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล กำลังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างหนัก โดยเฉพาะผู้ได้รับสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตนํ้ามันทั้งบนบกและในอ่าวไทย ที่ขณะนี้ ราคาขายนํ้ามันดิบได้ตํ่ากว่าราคาในตลาดโลก หรือประสบปัญหาขาดทุนแล้ว

รายงานจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ไทยมีผู้ได้รับสัมปทานผลิต นํ้ามันดิบจำนวน 12 ราย เป็นพื้นที่สัมปทานบนบก 6 ราย และในอ่าวไทย 6 ราย รวมปริมาณการขายได้ราว 3.74 ล้านบาร์เรลต่อเดือน มีมูลค่าราว 6,485 ล้านบาท และส่งออก 1 ล้านบาร์เรลต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 1,831 ล้านบาท จากราคานํ้ามันดิบที่ขาย 48-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ที่มีปริมาณการขาย 3.92 ล้านบาร์เรลต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 7,786 ล้านบาท และส่งออกปริมาณ 7.8 แสนบาร์เรลต่อเดือน มูลค่า 1,590 ล้านบาท จากราคานํ้ามันดิบ 49-68.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ขณะที่ตัวเลขในเดือนมีนาคม 2563 อยู่ระหว่างการรวบรวม คาดว่าปริมาณการขายและมูลค่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากราคานํ้ามันดิบของตลาดโลกที่ร่วงแรง

สถานการณ์ราคานํ้ามันดิบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ผู้รับสัมปทานดังกล่าวต้องดิ้นหาทางรอด และอยู่ระหว่างจัดทำผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือแบ่งเบาภาระภายในสัปดาห์นี้

ผู้ผลิตน้ำมันดิบอ่วม ยื่นแผนให้รัฐช่วย ชะลอเก็บค่าภาคหลวง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีการประชุมร่วมกับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่ผลิตนํ้ามันดิบทั้งบนบกและในทะเลกับผู้ประกอบการทั้ง 13 รายแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาความเดือดร้อนจากราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง จนส่งผลให้ราคาขายตํ่ากว่าต้นทุนการผลิต โดยให้ผู้ประกอบการไปจัดทำรายละเอียดถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือเสนอมายังกระทรวงพลังงาน และหลังจากนั้นถึงจะไปพิจารณาว่าภาครัฐจะให้การช่วยเหลือในรูปแบบใดได้บ้าง เพื่อ แบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ

สำหรับการช่วยเหลือนี้ มองว่าคงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป เนื่องจากต้นทุนการผลิตนํ้ามันดิบในแต่ละแหล่งมีต้นทุนที่แตกต่างกัน ซึ่งบนบกจะมีต้นทุนอยู่กว่า 20-30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ในทะเลอ่าวไทยมีต้นทุนตั้งแต่กว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลไปจนถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ดังนั้นการพิจารณาช่วยเหลือจะไม่เหมือนกัน ต้องพิจารณาไปตามต้นทุนการผลิตแต่ละแหล่ง

ส่วนเครื่องมือความเป็นไปได้นั้น เบื้องต้นคงต้องไปดูข้อกฎหมายของการให้สัมปทานว่าจะผ่อนปรนเรื่องใดได้บ้าง โดยเฉพาะการชะลอการจ่ายค่าภาคหลวงให้มีระยะยาวออกไป จากปกติต้องจ่ายเป็นรายเดือน เป็น 3 เดือนหรือ 6 เดือน เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการพอมีสภาพคล่อง ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการเก็บค่าภาคหลวงอยู่ที่ 804 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม ที่เก็บได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากใช้มาตรการชะลอจ่ายค่าภาคหลวง จะต้องมีการแก้กฎกระทรวง ซึ่งจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลานาน
อาจจะไม่ทันการช่วยเหลือ แต่กำลังดูว่าจะเร่งรีบดำเนินการได้อย่างไร

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.กล่าวว่า ผลกระทบของราคานํ้ามันที่เป็นอยู่ ยังน่าจะพอผลิตได้ แต่เชื่อว่าเป็นราคาที่ไม่สามารถยืนได้นานตามพื้นฐานของต้นทุนโดยรวม

แหล่งข่าวจากวงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้รับสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตนํ้ามัน คงต้องยอมรับกับสถานการณ์ราคานํ้ามันที่เกิดขึ้น เพราะเป็นราคาตลาดโลก ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทางรอดของผู้รับสัมปทานคงต้องหาวิธีลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด การจะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระคงเป็นเรื่องยาก ซึ่งหากสถานการณ์

ราคานํ้ามันยังตกตํ่ากว่าต้นทุนการผลิตเป็นระยะเวลานาน ก็คงต้องมาพิจารณาว่าจะต้องหยุดผลิตชั่วคราวหรือไม่ และอาจจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานตามมา เพราะขณะนี้เองการผลิตนํ้ามันดิบจากผู้ผลิตนํ้ามันดิบ จากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีต้นทุนสูงได้ปรับลดการผลิตต่อเนื่อง โดยพิจารณาจำนวนแท่นขุดเจาะนํ้ามันของสหรัฐฯ ลดลงอีก 66 แท่น สู่ระดับ 438 แท่น ซึ่งถือเป็นระดับที่ตํ่าสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่ปรับลดลงอีกหากราคานํ้ามันยังอยู่ในระดับตํ่าต่อไป

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ผู้ผลิตน้ำมันดิบอ่วม ยื่นแผนให้รัฐช่วย ชะลอเก็บค่าภาคหลวง