เทียบ 3 วิกฤติ โควิดหนักสุด ทุบอุตฯยานยนต์ร่วงกราวรูด

07 เม.ย. 2563 | 02:30 น.

รายงานพิเศษ  

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนให้กับโลกอยู่ในขณะนี้ ถ้าประเมินภาพทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะต้องใช้กำลังกายอีกเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอที่จะรับมือกับโรคร้ายนี้ได้  และจะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนแค่ไหนที่จะต้องเยียวยาและฟื้นฟูทั้งหมด

 

หันมามองประเทศไทยวันนี้เครื่องยนต์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกตัวดับสนิท  และถ้าโฟกัสมาที่อุตสาหกรรมดาวเด่นของไทยที่สร้างรายได้ให้กับประเทศต่อปีคิดเป็น 10% ของจีดีพีอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ น่าจะเป็นกลุ่มแรกๆที่เริ่มส่งสัญญาณไม่ดีมาตั้งแต่ต้นปี 2562 ในขณะนั้นเริ่มต้นมาจาก 3 สาเหตุหลักก่อนคือ1.ตลาดส่งออกชะลอตัว ตามเศรษฐกิจโลก  2.สงครามการค้าทำให้การค้าจากตลาดส่งออกมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะรถยนต์ค่ายอเมริกา 3.กำลังซื้อจากตลาดภายในประเทศไทยชะลอตัวลง

 

-พิษไวรัสกระแทกซ้ำจนอ่วม

ต่อเนื่องมาปี 2563 การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 เพียง 2 เดือน ทุบวงจรเศรษฐกิจทั้งระบบชะงักทันที เครื่องยนต์ตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเริ่มมีปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีปัญหาอยู่แล้วเริ่มปรากฏผลกระทบชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บางค่ายส่งสัญญาณปรับเวลาทำงาน และประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว หลังจากคำสั่งซื้อชิ้นส่วนจากค่ายรถยนต์ในประเทศลดลงและมีการแจ้งชะลอการซื้อออกไปก่อน  หลังจากที่การส่งออกรถยนต์เริ่มไม่เป็นไปตามแผน

 

-ถึงคิวค่ายรถข้ามชาติประกาศหยุดผลิต

พิษโควิด-19 ขย่มซ้ำจนมาถึงคิวผู้ผลิตรถยนต์  เมื่อทุกค่ายต้องออกมาทยอยประกาศหยุดการผลิตลงชั่วคราวตั้งแต่ค่ายหลักๆ เช่น ค่ายฮอนด้าหยุดผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม- 30 เมษายน, มิตซูบิชิ หยุดการผลิตทุกโรงงานตั้งแต่วันที่ 1 - 26 เมษายน 2563 (โรงงานที่ 1 หยุดงาน 1-26 เม.ย.,โรงงานที่ 2 หยุดงาน 1-19 เม.ย.,โรงงานที่ 3 หยุดงาน 1-22 เม.ย.)โดยพนักงานในสายการผลิตจะได้รับค่าจ้าง 85% , ค่ายโตโยต้าออกคำสั่งหยุดเดินสายการผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 7-17 เมษายน โดยให้ถือว่าเป็นวันหยุด จะได้รับค่าจ้างปกติ โดยไม่อนุญาตให้มีการทำงานล่วงเวลา, อีซูซุ หลังเผชิญปัญหาชิ้นส่วนประกอบขาดแคลนทั่วโลกและตลาดส่งออกรถยนต์หดตัวลงจึงต้องประกาศระงับการผลิตโรงงานชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 13-30 เมษายน, ค่ายนิสสัน ประกาศหยุดการผลิตลงชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน- 3 พฤษภาคมเพื่อความปลอดภัยของพนักงานและให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ยังต้องจับตาดูว่าถ้าไวรัสโควิด-19 ยังลากยาวต่อไปค่ายรถยนต์อาจยกระดับขยับแผนลดคน

 

หากถามว่าวิกฤติโควิด-19  เมื่อเปรียบเทียบกับ 2 วิกฤติทางเศรษฐกิจก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง  วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ลากมาถึงวิกฤติโควิด-19 ครั้งไหนรุนแรงกว่ากัน  ต่อเรื่องนี้บรรดากูรูจากวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างพูดในทิศทางเดียวกันว่า วิกฤติโควิด-19 รุนแรงที่สุด  เนื่องจากพร้อมใจกันเผชิญปัญหาเดียวกันทั้งโลก ทุกฐานการผลิตกระทบทั้งหมด ที่สำคัญในยุควิกฤติโควิดนี้ขนาดกำลังผลิตรถยนต์ใหญ่ขึ้น ดังนั้นความเสียหายก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

-ฟังเสียงสะท้อน 3 วิกฤติ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่าตอนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ในประเทศไทยมีกำลังการผลิตรถยนต์รวมทั้งสิ้นราว 558,000-600,000 คัน พอเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540  กำลังผลิตลดลงเหลือ 360,000 คัน และปี 2541 ลดลงเหลือ 158,000 คัน   ขณะนั้นเพิ่งมีการส่งออกหลักหมื่นคันเท่านั้น

 

ต่อมาระหว่างปี 2550-2551 เผชิญวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ จากที่มีกำลังผลิตรถยนต์ปี 2551 จำนวน 1.394 ล้านคัน มีการส่งออกราว 776,000 คัน และขายในประเทศประมาณ 615,000 คัน  กำลังผลิตลดลงมาเหลือ 999,000 คัน

 

หลังจากนั้นมาเมื่อทุกค่ายรถเข้าสู่โหมดฟื้นฟู กำลังผลิตรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนถึงปี 2561 ฐานการผลิตรถยนต์ของไทยเริ่มมีขนาดใหญ่ผลิตรถยนต์ได้ 2.167 ล้านคัน ผลิตขายในประเทศ 1.041 ล้านคัน ส่งออก 1.140 ล้านคัน พอมาปี 2562 ในประเทศผลิตรถยนต์ได้ 2.013 ล้านคัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นส่งออก 1.054 ล้านคัน และขายในประเทศ 1.007 ล้านคัน

 

ปี 2563 วงการรถยนต์ต่างตั้งเป้าหมายว่าจะมีกำลังผลิตทั้งสิ้น 2 ล้านคัน  ส่งออกและขายภายในประเทศแบ่งสัดส่วนละ 50% สุดท้ายพิษโควิด-19 ทำให้ต้องประกาศปรับลดกำลังการผลิตลงเหลือ 1.90 ล้านคัน ส่งออกและขายในประเทศสัดส่วนละ 50%  ดังนั้นถ้ามองในแง่ความเสียหายของอุตสาหกรรมยานยนต์จากพิษโควิด-19 จะรุนแรงกว่ามาก  และหากยืดเยื้อต่อไปกำลังการผลิตอาจจะลดลงไปอีก 

 

“ตอนวิกฤติต้มยำกุ้งกว่าตลาดรถยนต์จะฟื้นกลับมาได้ต้องใช้เวลา 2-3 ปี  แต่วิกฤติครั้งนี้หน่วยงานรัฐจากทุกประเทศต่างอัดฉีดเงินพยุงเศรษฐกิจ  ขึ้นอยู่ที่จะว่าจะควบคุมได้เร็วแค่ไหน   ซึ่งขณะนี้ทุกค่ายประกาศหยุดผลิตชั่วคราวในเดือนเมษายน ซึ่งตามปกติทุกปีก็หยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์อยู่แล้ว  เพียงแต่ปีนี้ต้องเพิ่มจำนวนวันหยุดมากขึ้น”

 

เทียบ 3 วิกฤติ  โควิดหนักสุด ทุบอุตฯยานยนต์ร่วงกราวรูด

 

นายโกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์ ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่าเดิมทั้งปี 2563 ตั้งเป้าว่าในประเทศจะมีการผลิตรถยนต์ราว 2 ล้านคันตอนนี้โจทย์เปลี่ยน โดยมองว่าถ้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อแน่นอน กำลังผลิตรวมน่าจะลงมาอยู่ที่ 1.4-1.5 ล้านคัน(รวมส่งออกและขายในประเทศ)ผลกระทบจากวิกฤติโควิดทำให้ติดลบ 30-40%  

“กว่าจะเริ่มมองเห็นสัญญาณบวกน่าจะไตรมาส 4 อย่าลืมว่าเราเจอหลายเด้ง ผลิตในประเทศกำลังซื้อตก ส่วนหนึ่งมาจากเดือนกุมภาพันธุ์ยอดส่งออกสินค้าเกษตรแทบจะเป็นศูนย์   หลังจากที่แต่ละประเทศล็อกดาวน์ ทุกประเทศหันไปทุ่มเท แก้ปัญหาไวรัสโควิดระบาด  อีกทั้งซัพพลายเชนจากต่างประเทศ  เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ที่นำเข้าจากมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และจีนสะดุดลง ทำให้เดือนเมษายนนี้ทุกค่ายที่ผลิตรถยนต์ต้องหยุดลงชั่วคราวก่อน”

 

สอดคล้องกับ นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสายงานสำนักประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า วิกฤติไวรัสโควิด-19 สร้างความเสียหายมหาศาลไปทั่วโลก การป้องกันการระบาดทำได้ยาก จะขจัดได้จะต้องมีวัคซีน  และวัคซีนก็จะต้องใช้เวลาทดลองนานเป็นปี   ถึงปลายปีก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้แล้วหรือยัง  ยังต้องจับตาหลังพ้นเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว  เชื่อว่าพนักงานจากหลายบริษัทจะได้รับผลกระทบหนักยิ่งขึ้น

ไม่มีใครคาดคิดว่าวันหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยภาคภูมิใจว่าเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่อันดับที่ 9  หรือบางปีลงไปอยู่อันดับที่ 10 ของโลก และเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศต่อปีด้วยมูลค่าเงินกว่า 2 ล้านล้านบาท(เฉพาะส่งออกมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี) ต้องสะดุดลงเพียงชั่วพริบตา เมื่อยอดขายแต่ละค่ายรถ ลดลง กำลังการผลิตเดินต่อไม่ได้

 

หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปจนถึงปลายปี 2563  แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ(รวมกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย)ที่มีแรงงานรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 500,000-700,000 คนจะต้องเผชิญชะตากรรมแบบไหนกันบ้าง และจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกนานแค่ไหน  สถานการณ์แบบนี้กำลังเกิดขึ้นกับเกือบทุกอุตสาหกรรมยังต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะมาตรการรับมือจากรัฐบาลเมื่อทุกด้านกำลังเดินไปสู่จุดวิกฤติเต็มตัว!!!