ส่องส่งออกไทย โอกาสใต้วิกฤติ อุปสรรคเพียบ

06 เม.ย. 2563 | 05:00 น.

แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19)ในจีนจะคลี่คลาย แต่ทั่วโลกยังมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก เฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ฉุดเศรษฐกิจ และการค้าโลกให้ชะลอตัวลง ซึ่งแต่ละประเทศต้องออกมาตรการเยียวยาประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจกันครั้งใหญ่ โดยที่ไม่รู้ว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะคลี่คลายลงได้เมื่อไร

 

ในส่วนของเศรษฐกิจ (จีดีพี) โลก ล่าสุดองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกปีนี้จะหดตัวเหลือ 1.6% จากปี 2562 ขยายตัว 2.9% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เป็นติดลบที่ 5.3% และส่งออกติดลบถึง 8.8% จากผลกระทบโควิดทำให้การค้าระหว่างประเทศหดตัว ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหา วิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินหากสถานการณ์เลวร้ายโควิด-19 ลากยาวเกิน 9 เดือน หรือมากกว่าเดือนกันยายน จีดีพีโลกจะติดลบ 2.5%  และส่งออกไทยติดลบ 7.1% ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)เตรียมปรับลดคาดการณ์จีดีพีและส่งออกไทยใหม่อีกครั้งในต้นเดือนเมษายนนี้

 

สหรัฐฯ-อิตาลีเร่งนำเข้า

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในฝั่งอเมริกาและยุโรปในเวลานี้ รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่าลงใกล้แตะ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นทั้งวิกฤติและโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย เฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มอาหารที่มีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น อาทิ อาหารแห้งและอาหารกระป๋อง สินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป รวมถึงกลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์

 

  “สินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงนี้เป็นสินค้าที่จำเป็น อุปสงค์ในตลาดโลกสูง ประกอบกับประเทศไทยถือเป็นครัวของโลกทำให้สินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นที่ต้อง การในตลาดสหรัฐฯ ยุโรป จีน และอื่นๆ ขณะนี้มีหลายประเทศเร่งนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋อง เช่น อิตาลี สหรัฐฯ เป็นต้น”


ส่องส่งออกไทย  โอกาสใต้วิกฤติ  อุปสรรคเพียบ

อุปสรรคส่งออกอื้อ

อย่างไรก็ดีสินค้ากลุ่มดังกล่าวเวลานี้อาจต้องมีการ quarantine (กักกัน) มากขึ้น สำหรับสินค้าที่ไปจากประเทศเสี่ยงซึ่งรวมทั้งไทย การกักกัน คัดแยก เป็นมาตรการด้านสุขอนามัยของทุกประเทศในช่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยสินค้าหรือบุคลากรที่เดินทางมากับสินค้า เช่น พนักงานยกขน พนักงานเครื่องบิน เรือ จะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดตามมาตรฐานสาธารณสุขของประเทศนั้นๆ ก่อน ถึงจะปล่อยให้เข้าประเทศได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจทำให้เกิดความล่าช้า ณ จุดตรวจปล่อยสินค้าของแต่ละประเทศ

 

นอกจากนี้ภายใต้วิกฤติโควิด-19 ที่ยังลุกลามทั่วโลกการส่งออกของไทยไปยังตลาดต่างๆ ยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่มาก เช่น แม้จะมีอุปสงค์หรือความต้องการในสินค้า แต่เนื่องด้วยห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ขาดตอน การค้าระหว่างประเทศที่หยุดชะงัก เช่น ในกลุ่มสินค้าอาหารทำให้เกิดการชะลอการส่งสินค้าของคู่ค้าในสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป สหรัฐ อเมริกา เนื่องจากร้านสาขาของลูกค้า และกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม โดนสั่งปิดทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถขายสินค้าได้

 

การปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีผู้จำนวนผู้ปฏิบัติงานลดลง อาจทำให้การดำเนินการภายในท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือด่านพรมแดนต่างๆเกิดความล่าช้า ในการตรวจคัดกรองทางสาธารณสุข เอกสารการค้า ทำให้เกิดความล่าช้าในการเคลียร์ของปลายทาง และ Delay Shipment, การนำเข้าวัตถุดิบยังไม่สะดวกเท่าที่ควร ซึ่งส่วนใหญ่ไทยนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปจากจีน แม้ว่าจีนจะเริ่มทยอยเปิดประเทศบ้างแล้วแต่ยังไม่เต็มที่ ทำให้ต้องมองหาวัตถุดิบทดแทนจากประเทศอื่นซึ่งมีราคาสูง ต้นทุนด้านวัตถุดิบเพิ่มขึ้น เป็นต้น

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2563