ฮึด!สู้โควิด-19 บีบต้นทุน

06 เม.ย. 2563 | 23:00 น.

ธุรกิจดิ้นสู้โควิด-19 “แฟชั่น-ขนส่ง-แอร์ไลน์- สื่อ” ปรับแผนคุมต้นทุน ทั้งลดเงินเดือน ลดสวัสดิการ ลดชั่วโมงทำงาน หยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันและมีทีท่าว่าจะลากยาวไปจนถึงกลางปี ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้อย่างแน่นอน ทำให้ภาคธุรกิจหลายแห่งเริ่มประเมินถึงภาวการณ์เมื่อรายได้ลดลง ส่อเค้าว่าธุรกิจจะขาดทุน

 

หนึ่งในแนวทางสำคัญคือการควบคุมต้นทุนให้ตํ่าที่สุด ด้วยการตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง ทำให้ในช่วงนี้หลายบริษัทเริ่มประกาศปรับองค์กรทั้งด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และการจัดการภายในองค์กรอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นสายการบินต่างๆ กลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่ให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน โรงงานผลิตแฟชั่นเสื้อผ้า ที่ยอดขายลดลง จึงต้องชะลอการผลิต พนักงานบางส่วนจึงต้องหยุดงานไปโดยปริยาย

 

ขณะที่กลุ่มสื่อ ก็มีข่าวการปรับลดเงินเดือน และเลย์ออฟพนักงานเพื่อลดต้นทุนอีกระลอกทั้งในส่วนของกลุ่มบีอีซี (ช่อง 3) นิวส์ทีวี และเครือเนชั่น

 

นางรมิดา รัสเซลล์ มณีเสถียร กรรมการบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายบูติกสตรี บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทไหมทอง จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่มีมาตรการปิดห้าง จุดขายหาย ยอดขายย่อมหายไปด้วย ส่งผลกระทบในหลายส่วน รวมถึงโรงงานผลิตด้วย ทำให้ต้องเร่งปรับแผนรองรับ โดยในส่วนของพนักงานขายได้รับการเยียวยาจากประกันสังคม ขณะที่ในส่วนโรงงานปรับแผนการผลิตจากเสื้อผ้ามาเป็นการเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้าแทน เพื่อให้พนักงานมีงานทำมีรายได้

 

“ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะลดคน หรือลดเงินเดือน แต่จะใช้วิธีโยกงานหรือโยกคนไปทำงานในส่วนอื่นแทนแต่จะใช้ลดต้นทุนค่าใชจ่ายด้านอื่น เช่น ลดค่า เดินทาง ลดค่านํ้ามัน และหันมาใช้เทคโนโลยีการทำงานมากขึ้น”

 

ด้านนายวิเชียร กันตถาวร กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ โลจิสติคส์ จำกัด ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การขนส่งสินค้าลดลงอย่างมาก โดยในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีรายได้ลดลงไปแล้วราว 20-30% พนักงานกว่า 170 คนจึงได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะพนักงานขับรถขนส่งราว 50 คน เบื้องต้นบริษัทมีการปรับแผนรองรับ เช่น พนักงานที่ลาออกไป จะไม่รับเพิ่ม แต่นำเงินไปบริหารจัดการให้กับพนักงานเดิม พร้อมบริหารจัดงานกันเองเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดการทำงานล่วงเวลา (OT) โยกพนักงานที่วางไปทำงานในส่วนอื่นแทน ขณะเดียวกันหากพนักงานต้องการหยุดงานก็สามารถใช้พักร้อนหยุดได้

 

ขณะที่กลุ่มธุรกิจการบิน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก พบว่า ไทยไลอ้อนแอร์ พนักงานทุกคนถูกปรับลดเงินเดือนลง 60% ไทยสมายล์ ลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูง 30% มีผลวันที่ 1 เมษายน-31 สิงหาคมนี้ ส่วนระดับผู้อำนวยการ ปรับลดเงินเดือน 6 วัน ระดับผู้จัดการ ปรับลดเงินเดือน 4.5 วัน มีผลวันที่ 1 เมษายน-สิ้นเดือนมิถุนายน ส่วนพนักงานทั่วไป เปิดสมัครให้ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนกี่วันก็ได้ในช่วง 6 เดือนนี้

 

ไทยแอร์เอเชียและไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ผู้บริหารระดับสูง รวมถึงระดับผู้อำนวยการขึ้นไป สมัครใจรับเงินเดือนที่ลดลง 75-10% ส่วนบางกอกแอร์เวย์ส บอร์ดและผู้บริหารระดับสูงสมัครใจลดเงินเดือน 50% และขอความร่วมมือให้พนักงานสมัครใจลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน ขณะที่ในเดือนเมษายนนี้นกแอร์จะประกาศให้พนักงานหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน

 

ล่าสุดการบินไทย ประกาศลดเงินเดือนพนักงานระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 50% พนักงานระดับผู้อำนวยการใหญ่ ลดเงินเดือน 40% ส่วนพนักงานเงินเดือนรวมค่าตอบแทนไม่เกิน 2 หมื่นบาท ลดเงินเดือน 10% เงินเดือนรวมค่าตอบแทน 20,001-40,000 บาท ลด 25% เงินเดือนรวมค่าตอบแทนตั้งแต่ 40,001-60,000 บาท ลด 30% เงินเดือนรวมค่าตอบแทนตั้งแต่ 60,001-100,000 บาท ลด 35% และเงินเดือนรวมค่าตอบแทนตั้งแต่ 100,001 บาท ขึ้นไปลด 40% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคมนี้ 

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2563