ฉีด 1.75 ล้านล้าน สู้พิษโควิด พยุงเศรษฐกิจเดินต่อ 4 เดือน

05 เม.ย. 2563 | 00:00 น.

รัฐบาลเดินหน้าออกแพ็กเกจฟื้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 อัดฉีดเงิน 1.75 ล้านล้านบาท บรรเทาพิษไวรัสโควิด-19 ครอบคลุมทุกกลุ่ม

สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ถาโถมเข้ามา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุดที่ 3 เพื่อดูแลเศรษฐกิจในภาคต่างๆ โดยคาดว่าจะใช้วงเงินรวมประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท เมื่อคำนวณจากจีดีพีของไทยในปี 2562 ที่ 17.5 ล้านล้านบาท

 

มาตรการ3 กลุ่มดูแลทุกมิติ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดพิเศษ ว่า มาตรการชุดที่ 3 ที่จะออกมาจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มกิจกรรม ประกอบด้วย 1. กลุ่มมาตรการเยียวยาภาคประชาชน และภาคธุรกิจในส่วนที่ยังขาดอยู่ในครอบคลุมครบถ้วน 2.มาตรการดูแลให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจที่ทุกอย่างติดขัด ไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า 3.มาตรการดูแลภาคเศรษฐกิจการเงิน โดยจะเสนอรายละเอียดทั้งหมดให้ที่ประชุมครม.ในวันอังคารที่ 7 เมษายน 2563 พิจารณา

 

“ทั้ง 3 กลุ่มจะเป็นมาตรการที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการดูแลประชาชน การดูแลธุรกิจให้สามารถยืนอยู่ได้ภายใต้วิกฤตินี้ และดูแลภาคการเงินให้เป็นปกติให้เป็นตัวซัพพอร์ตให้เกิดการหมุนเวียนที่เกิดกับเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดนี้ท้ายที่สุดคือการดูแลประชาชนนั่นเอง เพราะถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไปก็จะกระทบกับประชาชนไม่ว่าจนหรือรวย”

 

ออก 3 พ.ร.ก.ตุนกระสุน

ส่วนวงเงินที่จะใช้จะใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ คือประมาณ 10% ของจีดีพี อาจจะมากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้นก็ไม่มาก ส่วนจะมาจากการปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ปรับลดได้ลง 10% ส่วนที่เหลือที่งบประมาณไม่สามารถทำได้ก็เป็นการกู้ยืมโดยกระทรวงการคลัง เพื่อที่จะใช้หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ มากระตุ้นเศรษฐกิจ มาดูแลประชาชน อีกส่วนเป็นการออกพระราชกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยให้สามารถออกซอฟต์โลนไปหมุนเวียนในระบบการเงินและดูแลผู้ประกอบการ

 

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม.นัดพิเศษ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สำหรับเม็ดเงินที่จะนำมาอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจครั้งนี้ จะประกอบด้วย การออกพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 6-7 หมื่นล้านบาท การออกพระราชกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จัดสรรเงินกู้พิเศษดอกเบี้ยตํ่าให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยสินเชื่อต่อ ประมาณ 3-5 แสนล้านบาท และการออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจอีก 8 แสนล้านบาท -1 ล้านล้านบาท

 

ดูแลต่อภาคเกษตร

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้จัดชุดมาตรการเพื่อดูแลประชาชน และกลุ่มแรกคือ กลุ่มเกษตรกรที่อาจจะยังไม่ได้รับการดูแล จะดูแลต่อ ในเรื่องผู้ประกอบการ ลูกจ้างทั้งในระบบประกันสังคม ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ เริ่มแล้วในส่วนนี้จะดูแลต่อ และจะดูแลลดภาระในเรื่องของการผ่อนสินเชื่อเพิ่มเติมจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาเพิ่มเติม ในส่วนของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพราะมีประชาชนจำนวนมากใช้บริการขอสินเชื่อเช่นกัน หวังให้ประโยชน์สุดท้ายไปถึงประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับการดูแลด้วย

 

กลุ่มที่ 2 การดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงงบประมาณที่จะใช้ในการต่อสู้ด้านสาธารณสุขและที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสำคัญมากคือการดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชน เช่น การมีแรงงาน ประชาชนกลับพื้นที่เมื่อเหตุการณ์ดีขึ้นแล้ว สภาพเศรษฐกิจ การทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป อาจจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยยังอยู่ในพื้นที่ต่อไป จะมีชุดมาตรการดูแลในระยะตอนนี้ทันที แต่ไม่เพียงเท่านั้นจะเสริมสร้างอาชีพโอกาส ทักษะใหม่ให้ประชาชนในชุมชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเศรษฐกิจในประเทศพร้อมกัน นอกจากนั้นมีแนวความคิดดูแลถึงการลงทุนภาครัฐ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการ ภาระใหญ่คือ เกิดจากการกู้ยืม การจะให้มีสภาพคล่องเพียงพอ มีแนวทางมาตรการชุดออกมาเพิ่มเติมจากระยะ 1 และ 2 ต่อไป


ฉีด 1.75 ล้านล้าน สู้พิษโควิด พยุงเศรษฐกิจเดินต่อ 4 เดือน

ธปท.ขอออกพ.ร.ก.ซอฟต์โลน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นอกจากมาตรการชุดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาเน้นประชาชนรายย่อยไปแล้ว มาตรการที่จะออกมาเพิ่มเติมคือ เรื่องของสินเชื่อที่จะช่วยสภาพคล่องใหม่ ผู้ประกอบการจำนวนมากขาดเงินทุนหมุนเวียน ใช้ในการดูแลลูกจ้าง ธุรกิจให้ก้าวข้ามสภาวะที่ยากลำบาก ธปท.จะนำเสนอครม.เพื่อขอความเห็นชอบอนุมัติในหลักการ ที่จะขอออกพระราชกำหนด โดยธปท.เอง เพื่อจัดทำซอฟต์โลน ด้วยเงินของธปท. คล้ายกับที่เคยทำเมื่อปี 2555 ที่มีนํ้าท่วมใหญ่ ที่ให้ธปท.จัดทำซอฟต์โลนโดยตรงได้ แต่จะเป็นโครงการที่ใหญ่กว่าที่ครม.อนุมัติให้ใช้เงินธนาคารออมสินในรอบที่ผ่านมา ซึ่งรายละเอียดจะนำเสนอครม.ให้ความเห็นชอบตัวร่างพระราชกำหนดในวันอังคารที่ 7 เม.ย. นี้

 

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 มาตรการการเงิน ที่จะขอความเห็นชอบจากครม. 1.เป็นการขยายระยะเวลาในการคุ้มครองเงินฝากที่วงเงิน 5 ล้านบาทออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมปีนี้ เป็นสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมปี 2564 อีกเรื่องคือการเลื่อนการส่งเงินสมทบธนาคารพาณิชย์ที่นำไปใช้หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จากเดิมที่ต้องนำส่ง 0.46% เหลือ 0.23% เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินนำเงินนำส่งที่ลดลงไปลดดอกเบี้ย ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2563