4ทุ่ม จอดสนิท รถโดยสารสาธารณะ

03 เม.ย. 2563 | 11:32 น.

กรมการขนส่งทางบก ปรับเวลาให้บริการรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ต้องหยุดให้บริการในช่วงเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ฝ่าฝืนมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศข้อกำหนด ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 - 04.00 น. ทั่วราชอาณาจักร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้จำกัดเวลาในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทุกระบบให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว กรมการขนส่งทางบก จึงได้ออกคำสั่งกรมการขนส่งทางบก ระงับการเดินรถโดยสารสาธารณะ เป็นการชั่วคราวในสถานการณ์ฉุกเฉิน ครอบคลุมรถโดยสารประจำทางในทุกเส้นทางทั้งกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด อาทิ รถ บขส., รถร่วม บขส., รถเมล์ ขสมก., รถร่วม ขสมก., รถสองแถว รวมถึงรถโดยสารไม่ประจำทาง อาทิ รถบัสเช่าเหมา รถตู้เช่าเหมา ต้องหยุดให้บริการในช่วงเวลา 22.00 น. จนถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

 

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า ตามประกาศข้อกำหนด ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยผู้ประกอบการขนส่งต้องพิจารณาการเดินรถให้ผู้โดยสารและผู้ประจำรถสามารถกลับถึงที่พักหรือจุดหมายได้ก่อนเวลาตามประกาศข้อกำหนดห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานด้วย ในส่วนของรถแท็กซี่, รถจักรยานยนต์รับจ้าง, รถสามล้อรับจ้าง (รถตุ๊กตุ๊ก), รถสี่ล้อเล็ก ให้ถือปฏิบัติตามข้อกำหนด ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานด้วยเช่นกัน โดยสามารถให้บริการได้ในช่วงเวลา 04.00 – 22.00 น. เท่านั้น ทั้งนี้ สำหรับรถโดยสารที่มีความจำเป็นต้องขนย้ายประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยานให้เดินรถได้โดยต้องมีเอกสารรับรองความจำเป็นและมีมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หากพบการฝ่าฝืนมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548


 

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบผ่านระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบกพบจำนวนรถที่วิ่งให้บริการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด (รถหมวด 2 และหมวด 3) จากจำนวนจดทะเบียนทั้งหมด 19,985 คัน คงเหลือให้บริการในประมาณร้อยละ 8 ส่วนรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ 30) ได้แก่ รถทัศนาจร รถตู้เช่าเหมา รถส่งคนงาน เป็นต้น จากจำนวนจดทะเบียนทั้งหมด 78,072 คัน คงเหลือให้บริการประมาณร้อยละ 25

 

นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกได้ตรวจสอบข้อมูลจาก ขสมก. พบว่าในส่วนรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครนั้น ขณะนี้ผู้โดยสารได้ลดลงเหลือเพียงประมาณร้อยละ 40 จากสถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่สามารถให้บริการได้นั้น รถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ต้องดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม Social Distancing อย่างเคร่งครัด เว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างกัน อย่างน้อย 1 เมตร หากภายในรถมีผู้โดยสารครบตามจำนวนที่กำหนด ห้ามรับผู้โดยสารรายใหม่เพิ่มโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัส ป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19

 

อย่างไรก็ตามผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดด้วยรถโดยสารสาธารณะ ต้องผ่านมาตรการคัดกรองก่อนการเดินทางทุกคน รวมทั้งให้กรอกข้อมูลคำถามสุขภาพ ตามแบบ ต.8-คค ที่ระบุจุดเดินทางที่ออกและจุดหมายปลายทาง ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคติดต่อ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินหรือมีประกาศเป็นอย่างอื่น