ธุรกิจอาหารกัดฟันสู้วิกฤติโควิด  ลากยาว4เดือนจ่อปิดกิจการ

06 เม.ย. 2563 | 00:00 น.

ค่ายผู้ผลิตอาหารระทมพิษโควิด “ธนาสิริวัฒน์ฯ” เผยยอดหาย 90% ระบุปีนี้ได้ 5-10 ล้านก็พอใจแล้ว แนะภาครัฐช่วยเรื่องลดค่าขนส่ง และสถาบันการเงินพักเงินต้น-ดอกเบี้ย ขณะ “โกลบอล มารีนฯ” ยอดหาย 30-50% ชี้หากยืดเยื้อ 3-4 เดือนอาจต้องปิดกิจการ

นางสาวเฉลิมพรรณ วรพิทย์- พงศ์ กรรมการและฝ่ายการตลาด บริษัท ธนาสิริวัฒน์ กรุ๊ป จำกัด(บจก.) ผู้ผลิตและจำหน่ายและจำหน่ายไก่แท่งอบกรอบแบรนด์ “ทีเด็ดฮ่องเต้” เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการแพร่ระบาด ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อทำให้ยอดรายได้ของบริษัทหายไปประมาณ 90% ในส่วนของช่องทางการจำหน่ายผ่านสายการบินต่างๆ และการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับคิงเพาเวอร์ ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายหลักตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน

 

ส่วนช่องทางการจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดนั้น ยังพอจำหน่ายได้บ้างแต่ไม่มาก เพราะโมเดิร์นเทรดที่ผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายไม่ได้มีการให้บริการแบบดีลิเวอรีมาตั้งแต่ต้น จะต้องเป็นกลุ่มผู้บริโภคไปเลือกซื้อเอง มีผลทำให้ยอดรายได้ของบริษัทหายไปประมาณ 3 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังทำให้ช่องทางการส่งออกที่บริษัทได้มีการเจรจาทางธุรกิจกับประเทศเกาหลี ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 240 ล้านบาทต้องหยุดชะงักลงอีกด้วย โดยที่ยังไม่รู้ว่าเมื่อสถานการณ์ คลี่คลายยอดคำสั่งซื้อดังกล่าวจะยังคงอยู่หรือไม่

อย่างไรก็ดียังถือเป็นความโชคดีของบริษัทที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้ปรับกลยุทธ์เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสู่ตลาดออนไลน์เพิ่มเติม ทำให้ปัจจุบันยังมีรายได้ จากช่องทางดังกล่าวเป็นช่องทางหลักที่เข้ามาช่วยประคองธุรกิจได้ประมาณเดือนละ 1 ล้านบาท จากเดิมใช้เป็นช่องทางพิเศษในการเพิ่มรายได้ แต่รายได้ดังกล่าวยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายเรื่องการซื้อโฆษณาประชาสัมพันธ์บนช่องทางออนไลน์ และค่าขนส่ง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

 

“เดิมทีบริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทในปีนี้ จากการจำหน่ายในประเทศและส่งออก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้หากสามารถทำได้ 5-10 ล้านบาทก็ถือว่าน่าจะดีแล้ว เนื่องจากตลาดออนไลน์ยังไม่สามารถตั้งเป้าได้ชัดเจน เพราะเป็นตลาดใหม่ มีการแข่งขันสูง ยอดขายจึงไม่นิ่งในแต่ละเดือน แต่หากไม่มีช่องทางออนไลน์บริษัทก็อาจต้องปิดกิจการ ปัจจุบันบริษัทยังไม่มีการปลดพนักงานแต่อย่างใด”

สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในเวลานี้ก็คือเรื่องค่าขนส่ง เพราะบริษัทใช้บริการของไปรษณีย์ไทยเป็นหลัก หากสามารถลดค่าขนส่งลงมาได้ก็จะช่วยเหลือธุรกิจได้มาก และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพาตลาดออนไลน์ในเวลานี้ ส่วนสถาบันการเงินก็ควรมีมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย เป็นเวลาเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

 

 นายจตุพร จันทรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บจก.โกลบอล มารีน โฟรเซ่น ฟู้ด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งแบรนด์ “ชิมชิว” (ShrimpChew) กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบด้านยอดขายเช่นกัน แม้จะไม่ได้ถูกกระทบโดยตรง เพราะเป็นโรงงานผู้ผลิตโดยมีลูกค้าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารที่มีหลายสาขา โรงแรม ออเดอร์ ที่สั่งไว้ล่วงหน้า 2 เดือนจึงถูกยกเลิกทั้งหมด ส่งผลทำให้ยอดขายหายไปประมาณ 30-50% หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 15 ล้านบาท

 

ขณะที่การทำธุรกิจกับคู่ค้าเดิมที่เป็นเครดิตชำระ 60-90 วันก็มีการขอขยับเวลาเพิ่มอีก 60-90 วัน ส่วนคู่ค้าที่เป็นโมเดิร์นเทรดก็มียอดคำสั่งซื้อที่ลดลง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นของสดแช่แข็งทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมในการซื้อตุนของผู้บริโภค เท่ากับอาหารแห้ง หรืออาหารกระป๋องที่ยังพอจำหน่ายได้ บ้างคือผลิตภัณฑ์ที่เป็นชีสบอล

 

“บริษัทยังโชคดีที่ได้รับออเดอร์จากออสเตรเลียเข้ามาเป็นลูกค้าใหม่ หากทุกอย่างสามารถผ่านไปได้ด้วยดี ออเดอร์  ตัวในช่วงนี้บริษัทต้องลดปริมาณการผลิตอาหารสดลง หันมาผลิตชีสบอลสต๊อกเก็บไว้ ที่ต้องการจากรัฐบาลคือมาตรการความช่วยเหลือที่ชัดเจน และการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน เพราะหากสถานการณ์ยืดเยื้ออีก 3-4 เดือนบริษัทอาจต้องปิดกิจการ เพราะคงแบกสต๊อกกับต้นทุนไม่ไหว”

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2563

ธุรกิจอาหารกัดฟันสู้วิกฤติโควิด  ลากยาว4เดือนจ่อปิดกิจการ