โควิด ดันอุตฯบรรจุภัณฑ์โต 300 %

05 เม.ย. 2563 | 23:42 น.

เอกซเรย์อุตสาหกรรม ไทยใครได้-ใครเสียในวิกฤติโควิด สภาอุตฯเผยบรรจุภัณฑ์ โตพรวด 300% หลังความต้องการบรรจุภัณฑ์ส่งอาหารดีลิเวอรีใส่เจลล้างมือ-แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อพุ่งกระฉูด หน้ากากอนามัยโตเท่าตัว สวนทางรถยนต์ ชิ้นส่วน สิ่งพิมพ์ดิ่งเหว

เหรียญยังมีสองด้าน ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเป็นของคู่กัน ไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดทั้งในไทยและทั่วโลกเวลานี้ หลายอุตสาหกรรมการผลิตของไทยกำลังเผชิญวิกฤติ แต่อีกหลายอุตสาหกรรมก็กำลังได้รับอานิสงส์

โควิด ดันอุตฯบรรจุภัณฑ์โต 300 %

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในวิกฤติของไทยที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนคืออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก เฉพาะอย่างยิ่ง บรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์ พลาสติกเพื่อใส่อาหารส่งให้กับลูกค้าที่สั่งอาหารทางออนไลน์ (ดีลิเวอรี) ที่กำลังขยายตัวอย่างมากในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดในวงกว้าง รัฐบาลสั่งปิดหลายสถานประกอบการชั่วคราว เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร(ยกเว้นซื้อกลับไปทานที่บ้าน) ส่งผลให้ประชาชนหันมาสั่งซื้ออาหารผ่านแอพพลิเคชันอาหารชื่อดังทางออนไลน์กันมากขึ้น อาทิ Grab Food ,GET Food, LINE MAN เป็นต้น

 

“อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ช่วง 5-6 ปีก่อนมีสัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรม 50 : 50 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นหนังสือต่างๆ โฆษณาแผ่นพับ ไดอารี่และอื่นๆ ถูกดิสรัป หรือคุกคามจากเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ยอดผลิตและยอดขายหดหายไปจำนวนมาก สัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมปี 2562 เปลี่ยนเป็นสิ่งพิมพ์เหลือ 40% บรรจุภัณฑ์เพิ่มเป็น 60% และช่วงโควิดระบาดคนหันมาสั่งอาหารทางออนไลน์มากขึ้น ตัวเลขเดือนมีนาคมที่ไวรัสโควิดในไทยระบาดเพิ่มขึ้นยอดผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อบรรจุอาหารเพิ่มขึ้นถึง 200-300%”

ทั้งนี้จากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 3.1-3.2 แสนล้านบาท คาดปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.2-3.3 แสนล้านบาท โดยสัดส่วน 70% จะมาจากบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อซึ่งกลายเป็นสินค้าจำเป็นและต้องพกพาในชีวิตประจำวันของประชาชนก็ได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้น โดยในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นมากกว่า 300% จนโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ผลิต 24 ชั่วโมงก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางส่วนต้องสั่งนำเข้าจากจีนซึ่งช่วยบรรเทาการขาดแคลนได้ระดับหนึ่ง

โควิด ดันอุตฯบรรจุภัณฑ์โต 300 %

นอกจากนี้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่มี 11 โรงในประเทศก็ได้อานิสงส์จากการเพิ่มไลน์ผลิตกันเต็มที่เพื่อตอบสนองความต้องการหน้ากาอนามัยในประเทศที่ยังขาดแคลน ปัจจุบันกำลังผลิตรวมของโรงงานอยู่ที่ประมาณ 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน จากปกติอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน รวมถึงสินค้าอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของฟ้าทะลายโจร วิตามินซีที่ช่วยเสริมภูมิต้านทานไวรัสโควิด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กระดาษชำระ สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็ขายดีขึ้นจากที่ล่าสุดรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวห้ามคนออกนอกเคหะสถาน หรือ เคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 22.00 น. จนถึง 04.00 น. ยกเว้นผู้ที่มีเหตุจำเป็น

 

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพื่อส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อในตลาดสหรัฐ ยุโรป และอื่นๆ ลดลง และร้านเสื้อผ้าตามห้างสรรพสินค้าทั้งในและต่างประเทศถูกปิดช่วงโควิดได้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสในการหันมาผลิตหน้ากากผ้าเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศที่ยังไม่เพียงพอกันมากขึ้น

 

“ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบด้านลบเช่นรถยนต์ที่หลายค่ายต้องปิดโรงงานชั่วคราวจากยอดขายลดลงมากทั้งในและต่างประเทศและกระทบถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย รวมถึงสินค้าเสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า และสินค้าแฟชั่นต่าง ๆ ก็กระทบจากห้างถูกสั่งปิดทั้งในและต่างประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อส่งออกที่ได้รับผลกระลบจากคำสั่งซื้อลดลง ซึ่งเดิมผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายในเวลา 3-4 เดือน หรือหลังสิ้นมิถุนายนน่าจะดีขึ้น แต่เวลานี้สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ล้านคน ถือว่ายังรุนแรง จึงคาดว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายอย่างเร็วสุดน่าจะประมาณ ปลายปีนี้ ดังนั้นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจะต้องปรับตัวและแผนธุรกิจใหม่ ว่าจะทำอย่างไรในการประคองธุรกิจให้อยู่ได้จนถึงสิ้นปีนี้”

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2563

โควิด ดันอุตฯบรรจุภัณฑ์โต 300 %