แพ็กเกจใหญ่สู้โควิดได้ทุกคน

03 เม.ย. 2563 | 07:42 น.

"สมคิด"เดิน3มาตรการครอบคลุมทุกมิติ ดูแลทุกภาคส่วนให้สามารถฝ่าวิกฤติไปให้ได้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดพิเศษ ว่าเพื่อให้มีทรัพยากรในการดูแลประชาชน ธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม ในการนำเสนอออกมาเป็นกลุ่มกิจกรรม 3 กลุ่มใหญ่คือ  1. กลุ่มมาตรการเยียวยาภาคประชาชน และภาคธุรกิจในส่วนที่ยังขาดอยู่ในครอบคลุมครบถ้วน 2.มาตรการดูแลให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจที่ทุกอย่างติดขัด ไม่ให้เศรษฐกิจหยัดชะงักในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า

 

 3.มาตรการดูแลภาคเศรษฐกิจการเงิน อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหาในภาคเศรษฐกิจ ย่อมเกี่ยวพันกับภาคการเงินขณะนี้ทุกอย่างไม่มีปัญหาแต่ด้วยความไม่ประมาทรัฐบาลคิดมาตรการให้ดูแลภาคการเงินครบถ้วน

 

แพ็กเกจใหญ่สู้โควิดได้ทุกคน

 

“ทั้ง 3 กลุ่มจะเห็นได้ว่า เป็นมาตรการที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการดูแลประชาชน การดูแลธุรกิจให้สามารถยืนอยู่ได้ภายใต้วิกฤตินี้ และดูแลภาคการเงินให้เป็นปกติให้เป็นตัวซัพพอร์ตให้เกิดการหมุนเวียนที่เกิดกับเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดนี้ท้ายที่สุดคือการดูแลประชาชนนั่นเอง เพราะถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไปก็จะกระทบกับประชาชนไม่ว่าจนหรือรวย”

 

“ ได้คิดมาพอสมควร ในการออกมาตรการนี้และจะนำเสนอในหลักการในวันนี้ ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังและธปท.ก็จะดูเรื่องของกฎเกณฑ์ เพราะอาจจะต้องมีบางส่วนที่มาจากงบประมาณ บางส่วนมาจากการกู้ยืมเงิน ฉะนั้นการเตรียมการในรายละเอียดกำลังทำอยู่ ถ้าทันก็จะเอาเข้าครม.วันอังคารนี้”

 

ส่วนมาตรการทั้งหมดมีข่าวว่าจะใช้เงินถึง1ล้านล้านบาทจริงหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ไปเอาข่าวมาจากไหน เรียนว่ากิจกรรมมี 3 กลุ่ม คือดูแลเยียวยาประชาชน การดูแลเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า การไหลเวียนไม่ให้หยุดนิ่ง ซึ่งกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ จะได้มีโอกาสเข้ามาช่วยตรงนี้  และเรื่องของการรักษาระบบเศรษฐกิจให้ระบบเดินได้

 

นายสมคิดกล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ที่เขาทำกัน คือใกล้เคียงประมาณ 10% ของจีดีพี อาจจะมากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้นก็ไม่มาก แต่ว่าวงเงินเป็นเพียงวงเงินนะครับที่ต้องใช้ แต่ในทางปฏิบัติส่วนหนึ่งต้องมาจากงบประมาณ เพราะเราต้องการให้งบประมาณถูกนำมาใช้ให้มากที่สุด และมาช่วยแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ซึ่งคาดการณ์แล้วก็คงใกล้เคียงกับ 10% ของงบประมาณที่ใช้ได้ บางส่วนยังใช้ไม่ได้เป็นเรื่องของเงินเดือนเราไม่แตะต้องอยู่แล้ว บางส่วนเป็นงบที่ใช้ไปแล้วก็จะไม่แตะ แต่ในส่วนที่เหลือท่านนายกรัฐมนตรีได้กำชับแล้วว่าให้ใช้ประมาณ 10% โดยเฉลี่ยของทั้งหมด ที่เหลือที่งบประมาณไม่สามารถทำได้ก็จะมีการกู้ยืม การกู้ยืมนั้นเป็นการกู้ยืมโดยกระทรวงการคลังเพื่อที่จะใช้หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ มากระตุ้นเศรษฐกิจ มาดูแลประชาชน และการกู้ยืมอีกส่วนเป็นการกู้ยืมในนามของแบงก์ชาติ แต่นั่นไม่ใช่เป็นการกู้ยืม แต่เป็นการออกพรก.เพื่อช่วยให้สามารถออกซอฟท์โลนเพื่อไปหมุนเวียนในระบบการเงินและดูแลผู้ประกอบการ

 

“ส่วนจะวงเงินเท่าไร เป็นยังไงต้องรอให้หลังครม.มีมติก่อน เพระว่าต้องมีการเจรจากับสำนักงบประมาณ เพื่อดูรายละเอียดต่างๆว่าต้องใช้ประมาณเท่าไร แต่ทั้งหมดนี้เชื่อว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ให้ภาคธุรกิจได้ว่าเราจะก้าวข้ามวิกฤติการนี้ได้”

 

นายสมคิด ตอบคำถามที่ว่าถามถึงการหารือการตัดงบประมาณ 10% ว่า ก็มีการหารือ แต่กระทรวงการคลังก็จะไปหารือกับสำนักงบประมาณ ว่าทำได้เท่าไร แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด “และทุกกระทรวงก็เห็นด้วย” 

 

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดพิเศษ ว่า กระทรวงการคลังได้จัดชุดมาตรการเพื่อดูแลประชาชน และกลุ่มที่ดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม ดูแลผู้ประกอบการ และระบบการธนาคาร ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแล โดยเริ่มจากกลุ่มเกษตรกรที่อาจจะยังไม่ได้รับการดูแล จะดูแลต่อในเรื่องผู้ประกอบการ ลูกจ้างทั้งในระบบประกันสังคม ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ เริ่มแล้วในส่วนนี้จะดูแลต่อ และจะดูแลลดภาระในเรื่องของการผ่อนสินเชื่อเพิ่มเติมจากที่ธนาคารแห่งประเทศจะมีมาเพิ่มเติม ในส่วนของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพราะมีประชาชนจำนวนมากใช้บริการขอสินเชื่อเช่นกัน หวังให้ประโยชน์สุดท้ายไปถึงประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับการดูแลด้วย

 

นายอุตตม กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 การดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงงบประมาณที่จะใช้ในการต่อสู้ด้านสาธารณสุขและที่เกี่ยวข้องภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสำคัญมากคือการดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชน เช่น การมีแรงงาน ประชาชนกลับพื้นที่เมื่อเหตุกการณ์ดีขึ้นแล้ว สภาพเศรษฐกิจ การทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป อาจจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยยังอยู่ในพื้นที่ต่อไป จะมีชุดมาตรการดูแลในระยะตอนนี้ทันที แต่ไม่เพียงเท่านั้นจะเสริมสร้างอาชีพโอกาส ทักษะใหม่ให้ประชาชนในชุมชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเศรษฐกิจในประเทศพร้อมกัน นอกจากนั้นมีแนวความคิดดูแลถึงการลงทุนภาครัฐ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ทั่วประเทศ  ส่วนกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการ ภาระใหญ่คือเกิดจากการกู้ยืม การจะให้มีสภาพคล่องเพียงพอ มีแนวทางมาตรการชุดออกมาเพิ่มเติมจากระยะ 1 และ 2 ต่อไป

แพ็กเกจใหญ่สู้โควิดได้ทุกคน

 

นายอุตตม กล่าวว่า ที่มีการพูดกันว่าวงเงินที่ใช้ 10% ในการบริหารจัดการเยียวยาทั้งหลาย ก็คงใกล้ๆกับ 9-10% ของจีดีพี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกู้ทั้งหมด คนละเรื่องกัน เราจะต้องประสานกับสำนักงบประมาณว่าการดำเนินการทางงบประมาณ เพื่อเอามาใช้เรื่องการดูแลโควิดก็จะมี ถ้ายังมีเพิ่มเติมเราก็พูดถึงการออกพรก.เพื่อกู้เงิน

“ไม่ใช่ว่ากู้เงิน 10% ของจีดีพีไม่ใช่ ถ้างบประมาณช่วยได้มาก ก็กู้น้อยลง”นายอุตตม กล่าว