วิกฤติโควิดโอกาสทองข้าวไทย

02 เม.ย. 2563 | 03:10 น.

พลิกวิกฤติโควิดระบาด นายกโรงสีฯ เผยความต้องการข้าวไทยทะยานต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดเอเชีย ลุ้น “เวียดนาม” ชะลอส่งออกไทยเสียบแทนที่ ชี้ในประเทศไม่น่าห่วงชาวนาปลูกข้าวนาปรังรอบ2 กว่า 7 ล้านไร่ รับอานิสงส์เต็มราคาข้าวดี

  วิกฤติโควิดโอกาสทองข้าวไทย

 

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยและในฐานะกรรมการหลายคณะในแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรของรัฐบาล เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการพยากรณ์ ผลผลิตข้าวของประเทศไทย ปี 2562/63 มีปริมาณ 28.44 ล้านตันข้าวเปลือก คำนวณเป็นข้าวสารประมาณ 18 ล้านตันเศษ บริโภคภายในและผลิตภัณฑ์ประมาณ 8 ล้านตัน ส่งออก 7.6 ล้านตัน คงเหลือสต๊อกโดยประมาณ 2.4 ล้านตัน   ผลผลิตปกติ กรณีไม่มีปัญหาเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ (น้ำท่วมหรือแล้ง) มีปริมาณ 31 ล้านตันข้าวเปลือก คำนวณเป็นข้าวสารประมาณ 19.5 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 8 ล้านตัน ยังเหลืออยู่ 11.5 ล้านตัน ที่สามารถส่งออกได้ ขึ้นอยู่กับราคาและความต้องการใช้ของประเทศผู้นำเข้า

 

วิกฤติโควิดโอกาสทองข้าวไทย

 

“เราจะพบได้ว่าที่ผ่านมา ราคาข้าวสาร 5% ของไทยราคาสูงกว่า คู่แข่งในประเทศที่ส่งออกข้าว ถึงตันละ 50-70 ดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้ข้าวไทย แข่งขันด้านราคาลำบาก ทำให้ปริมาณการส่งออกลดลงกว่า 25%  และคู่แข่งไทยส่งออกกลุ่มข้าวนุ่มมากขึ้นดึงสัดส่วนของไทยลดลง

 

วิกฤติโควิดโอกาสทองข้าวไทย

 

นายเกรียงศักดิ์  กล่าวว่า จากการส่งออกที่ลดลง และราคาที่มีผลต่อการแข่งขันทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกร ที่เพาะปลูกข้าวเปลือกเจ้ากลุ่มข้าว 5% ราคาต่ำมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้รายได้ลดลง ซึ่งในสถานการณ์ข้าวปัจจุบัน หลายฝ่ายมีความกังวล กับราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นมาว่าจะเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มข้าว 5% จากราคาข้าวสารที่ผู้ส่งออกซื้อจากโรงสี เป็นเวลานานกว่า 3 ปี ราคาเฉลี่ยตันละ 11,500 -12,000 บาท มาอยู่ที่ราคา 16,500 บาท

 

วิกฤติโควิดโอกาสทองข้าวไทย

 

“ราคาข้าวเปลือกเจ้ากลุ่ม 5% ความชื้น 15% จากเดิม ตันละ 7,600-8,000 บาท มาเป็นเวลานานกว่า 3 ปี ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกเจ้ากลุ่ม 5% ที่ความชื้น 15% ราคาตันละ 9,700-10,500 บาท ทำให้เกษตรกร ที่เก็บเกี่ยวอยู่ ขณะนี้และในช่วงเวลาที่ผ่านมา 1-2 เดือน ได้อานิสงส์ จากราคาที่ปรับขึ้นเป็นลำดับ ทำให้มีรายได้มากขึ้น จากการที่เสี่ยงในทำการเพาะปลูก เพราะต้องเจอทั้งปัญหาภัยแล้งแต่พยายามดิ้นรนในการปลูกข้าว”

 

วิกฤติโควิดโอกาสทองข้าวไทย

 

ในปีปกติประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวรอบที่2 (นาปรัง) พื้นที่ 12 ล้านไร่ ผลผลิตประมาณ 8-9 ล้านตันข้าวเปลือก แต่เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งเป้าพื้นที่เพาะปลูกลดลงเหลือ 4.5 ล้านไร่ แต่ข้อเท็จจริงเกษตรกร เพาะปลูกถึง 7 ล้านไร่  ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) กำลังเก็บเกี่ยวอยู่ในขณะนี้ และจะเก็บเกี่ยวต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ก็ยังมีผลผลิตข้าวเปลือกของเกษตรกรออกมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้พื้นที่ส่วนใหญ่มีผลกระทบจากภัยแล้ง (อีกประมาณ7-8 เดือนก็เข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ปีการผลิต 63/64)

 

วิกฤติโควิดโอกาสทองข้าวไทย

 

อย่างไรก็ตามการบริโภคข้าวภายในประเทศ โดยเฉลี่ย 90-100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือวันละ 3-4 ขีดต่อคน หาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภคข้าวแต่ละวันคิดจากราคา ข้าวสาร 5% กิโลกรัมละ 20 บาท เท่ากับมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคข้าววันละไม่เกิน 10 บาท หากเทียบกับสินค้าชนิดอื่น ก็จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

 

วิกฤติโควิดโอกาสทองข้าวไทย

 

“วันนี้ในสถานการณ์วิกฤติภัยโควิด-19 นั้นกลายเป็นโอกาสของประเทศไทย  เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าวต่างมีความต้องข้าวขึ้นมาปัจจุบันทันด่วน ทำให้ข้าวไทย กลุ่มข้าว 5% มีราคาในตลาดโลกปรับขึ้นกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐ (เดิมอยู่ประมาณ 370-380 ดอลลาร์สหรัฐ)”

 

วิกฤติโควิดโอกาสทองข้าวไทย

 

โดยเฉพาะในตลาดเอเชีย แต่ทั้งนี้จะอยู่ที่ราคานี้ได้นานแค่ไหน และจะมีปริมาณมากเพียงไร ก็ขึ้นกับผู้นำเข้า(การนำเข้าอาจจะมีปริมาณไม่มากนักเนื่องจากราคาสูงและรอบการเพาะปลูกข้าว4เดือน)และนโยบายการส่งออกของประเทศเวียดนามเป็นสำคัญ (ต้องมองจังหวะการก้าวเดินของเวียดนามในสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาตลาดโลกสูงขึ้นมากให้ดี)

 

วิกฤติโควิดโอกาสทองข้าวไทย

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายถึงว่า ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆกำลังประสบปัญหาความยากลำบากในการประกอบธุรกิจในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด แต่ข้าวกำลังเป็นพืชที่นำรายได้เข้าประเทศที่สำคัญมูลค่าการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นและเป็นรายได้ของเกษตรกรที่กำลังเก็บเกี่ยวข้าวอยู่ในขณะนี้ ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และมุมมองของประเทศไทยต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน