หน้ากากผ้าก.อุตฯถึงมือประชาชน กทม. 11 เม.ย.

01 เม.ย. 2563 | 05:00 น.

รมว.อุตสาหกรรม เดินเครื่องสั่งการแจกหน้ากากผ้า 10 ล้านชิ้นทางไปรษณีย์ไทย ระบุถึงโดยล็อตแรก จำนวน 1 ล้านชิ้น ได้รับภายในต้นเดือนเมษายนนี้

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตฯได้ดำเนินการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  และภาคเอกชน  เพื่อผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าจำนวน 10 ล้านชิ้น  แจกจ่ายให้ประชาชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล  รวมถึงพื้นที่เสี่ยงอื่น  โดยจะเริ่มแจกจ่ายหน้ากากผ้าล็อตแรก จำนวน 1 ล้านชิ้น ให้ถึงมือประชาชนภายในวันที่ 11 เมษายนนี้  โดยจัดส่งผ่านไปรษณีย์ไทยตามข้อมูลทะเบียนบ้านทุกครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานคร ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จำนวนกว่า 3,050,000 ครัวเรือน จำนวนรวมกว่า 5,600,000 ชิ้น ตามบัญชีรายชื่อในทะเบียนบ้าน 1 คนต่อ 1 ชิ้น

 

หน้ากากผ้าก.อุตฯถึงมือประชาชน กทม. 11 เม.ย.

 

สำหรับครัวเรือนที่จะรับหน้ากากเป็นลำดับแรก จะเริ่มจากเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตสัมพันธวงศ์ รหัสไปรษณีย์ 10100 และจัดส่งจนครบทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ และเขตสุดท้ายจะได้รับไม่เกินต้นเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับในส่วนที่เหลือจำนวน 4,400,000 ชิ้น จะแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่เขตปริมณฑลและพื้นที่อื่นที่มีความเสี่ยง เช่น จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ จังหวัดภาคใต้และภาคใต้ชายแดน เป็นต้น รวมถึงพนักงานบริการที่มีความเสี่ยง เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทยนำไปใช้ 40,000 ชิ้น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือขสมก จำนวน 20,000 ชิ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 300,000 ชิ้น โรงพยาบาล 18 แห่ง180,000 ชิ้น รถไฟฟ้า บีที่เอส และเอ็มอาร์ที จำนวน 5,000 ชิ้น  ซึ่งได้มีการพิจารณาจัดสรรการแจกจ่ายหน้ากากผ้า  โดยคณะกรรมการกำกับและบริหารโครงการผลิตหน้ากากผ้าเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย และป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แก่ประชาชน ของกระทรวงอุตสาหกรรม

 

“ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิ์ของตนเองได้ผ่านทาง www.หน้ากากไทยต้านโควิด.com ซึ่งร่วมกับธนาคารกรุงไทย  โดยทุกครัวเรือนจะได้รับตามจำนวนบุคคลที่อยู่ในทะเบียนบ้านคนละ 1 ชิ้น สำหรับการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยแบบผ้าโดยวิธีการส่งทางไปรษณีย์นั้น เพื่ออำนวยความสะดวกและสามารถตรวจสอบได้ว่าประชาชนที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ ทุกหลังคาเรือนจะได้รับหน้ากากผ้าถึงมือจริง  ส่วนเขตปริมณฑลจะดำเนินการแจกโดยผู้ว่าราชการจังหวัด”

นายสุริยะ กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ได้เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่าย งบกลาง จำนวน 65 ล้านบาท ให้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลิตหน้ากากผ้าและแจกจ่ายให้ประชาชนเพิ่มเติมจากที่กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้ผลิตหน้ากากสำหรับแจกจ่ายให้ประชาชนในส่วนภูมิภาค จำนวน 50 ล้านชิ้น เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย และป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนงบประมาณดังกล่าวซึ่งไม่เพียงพอ  กระทรวงอุตฯจึงได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 2 ล้านบาทจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตฯ  เพื่อเป็นค่าจัดส่งเพิ่มเติม ดังนั้น  จึงใช้งบประมาณทั้งหมด 67 ล้านบาทในการดำนเนการครั้งนี้

 

หน้ากากผ้าก.อุตฯถึงมือประชาชน กทม. 11 เม.ย.

 

ทั้งนี้  ได้มีการคัดเลือกโรงงานที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสามารถจัดหาวัตถุดิบในการผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งมีคุณลักษณะผ้าและหน้ากากผ้า ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด เรื่องข้อแนะนำคุณลักษณะผ้าที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  โดยผ่านการรับรองมาตรฐานจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบคุณลักษณะและคุณภาพทั้งก่อนและหลังการผลิต เพื่อให้สามารถผลิตหน้ากากผ้าที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพและปลอดภัยจากสารเคมี ซักแล้วใช้ซ้ำได้ ทันต่อสถานการณ์ที่เร่งด่วนในขณะนี้

 

 

“หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อออกไป  กระทรวงคงจะต้องดำเนินการของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล  เพื่อนำมาผลิตหน้ากากและแจกจ่ายเพิ่มเติม”

 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระจายหน้ากากเฉพาะในเขตกรุงเทพฯจะเป็นการส่งตามทะเบียนราษฎร์  หรือบ้านเลขที่  ขณะที่ปริมณฑลจะมีการส่งทั้งจำนวนให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นผู้กระจายตามความจำเป็น  และความเสี่ยง  โดยเหตุผลที่ต้องเน้นแจกให้กับประชาชนในเขตกรุงเทพฯ  ปริมณฑลและพื้นที่สุ่มเสี่ยง  เนื่องจากตอนที่นำเสนอเข้า ครม. ในเขตพื้นที่ดังกล่าวมีความหนาแน่นของประชากรสูง  ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหลายกรณีสำคัญเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ  จึงให้กระทรวงอุตฯเพิ่มการแจกหน้ากากในกรุงเทพฯเป็นหลัก  และปริมณฑล 

 

หน้ากากผ้าก.อุตฯถึงมือประชาชน กทม. 11 เม.ย.

 

“ล็อตแรกจะกระจายไปยังพื้นที่กรุงเทพฯก่อน  หลังจากนั้นในล็อตถัดไปจะมีการกะจายไปยังส่วนอื่นเพิ่มเติมด้วยนอกจากพื้นที่กรุงเทพฯ”