สิ่งทอฝ่าวิกฤติ แห่ผลิตหน้ากากผ้า ประคองธุรกิจให้รอด

03 เม.ย. 2563 | 23:30 น.

กลุ่มสิ่งทอปรับแผนประคองธุรกิจให้อยู่รอดช่วงวิกฤติโควิด-19 หลังทุบรายได้หด หันผลิตหน้ากากผ้าที่มีนวัตกรรมสร้างจุดขาย ปั้นรายได้ใหม่เลี้ยงธุรกิจ แก้ปัญหาไม่ต้องปลดคนงาน

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเวลานี้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่จองการผลิตไว้ล่วงหน้า 7-8 เดือน ได้ถูกลดออร์เดอร์ลง 30-40% ซึ่งหากสถานการณ์ยังยืดเยื้ออีก 2 เดือน นายยุทธนา ศิลป์สรรค์-วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ระบุว่า อาจส่งผลให้โรงงานสัดส่วน 50% ต้องปิดกิจการนั้น อีกด้านหนึ่งโรงงานสิ่งทอได้พลิกวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสปรับตัวเพื่ออยู่รอดแล้ว

 

นายคมศานต์ จิวากานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลักซ์ โฮเทลซัพพลาย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายหมอน และเครื่องนอนโรงแรม 6 ดาว แบรนด์ “Luxury” เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกเวลานี้ ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทหายไปทั้งหมด 100% เนื่องจากกลยุทธ์การทำตลาดหลักของแบรนด์คือการออกงานแสดงสินค้า รวมถึงการเปิดบูธจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้าขนาดเล็ก หรือคอมมิวนิตีมอลล์, อาคารสำนักงาน และโรงแรม ซึ่ง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สิ่งทอฝ่าวิกฤติ แห่ผลิตหน้ากากผ้า ประคองธุรกิจให้รอด
ทั้งนี้บริษัทได้ปรับตัวโดยหันมามุ่งเน้นการผลิตหน้ากากผ้าจำหน่าย เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป รวมถึงเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจ และพนักงานยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ปัจจุบันมียอดคำสั่งซื้ออยู่ที่ประมาณ 2,000 ชิ้นต่อวันผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งถือว่าเต็มกำลังการผลิต เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นการเย็บด้วยมือ หรือแฮนด์เมดทุกชิ้นส่งผลให้บริษัทมียอดรายได้อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทต่อเดือน
 

สำหรับจุดเด่นหน้ากากผ้าของบริษัท อยู่ที่ผ้าด้านนอกทำจากผ้าดีลักซ์แคร์เป็นผ้าคอตตอนมิกซ์ทอ 1,100 เส้นด้าย สามารถกันนํ้า กันฝุ่นได้ เนื้อผ้าเรียบลื่น ไม่ใช่ผ้าเคลือบสาร สามารถซักทำความสะอาดได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ส่วนผ้าด้านในทำจากผ้าคอตตอนคอลลาเจนทอ 1,200 เส้นด้ายทำให้ได้เนื้อผ้าลื่น เย็นสบายอ่อนโยนต่อผิว

 

บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศซึ่งมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตลาดในประเทศมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่พนักงานต้องใช้หน้ากากใน
การปฏิบัติงานอยู่แล้วโดยปรับเปลี่ยนมาใช้หน้ากากแบบผ้ามากขึ้น เพื่อให้นำกลับมาใช้ซํ้าได้ติดต่อเข้ามาหลายแห่ง ส่วนตลาดต่างประเทศที่สนใจติดต่อเข้ามาเป็นกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางซึ่งต้องการให้บริษัทผลิตและส่งให้จำนวน 5 หมื่นชิ้นต่อสัปดาห์

 

“เดิมปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้ที่ประมาณ 360 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 30 ล้านบาทต่อเดือน ช่วง 2 เดือนแรกยังทำได้ตามเป้า แต่เมื่อรัฐบาลมีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทำให้รายได้ของบริษัทต้องหยุดชะงัก เพราะงานแสดงสินค้าไม่สามารถจัดได้ ห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตีมอลล์ ต่างก็ต้องปิดให้บริการ การปรับตัวดังกล่าวจึงเสมือนเป็นทางออกในภาวะวิกฤติแบบนี้โดยไม่มีแผนที่จะปลด หรือลดเงินเดือนพนักงาน”

 

ด้านนายมงคล คงสุขจิร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี พีลโล 999 (ประเทศไทย)ฯ ผู้ผลิตและจำหน่ายหมอน และเครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว แบรนด์ “Dpillow” กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบพอสมควรจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายลง แต่เนื่องจากในช่วงต้นปีบริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดต่อยอดไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีแผลกดทับ และผู้สูงอายุที่เริ่มนอนติดเตียง โดยทำเป็นปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ขนาดเท่ากับเตียงคนไข้ภายใต้แบรนด์ “DCare” ทำให้บริษัทมีรายได้และฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริษัทตั้งเป้ารายได้จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวประมาณ 90 ล้านบาทในปีนี้

 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดบริษัทได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่การทำหน้ากากผ้าที่ถักทอด้วยนวัตกรรม Nano Zinc Oxide แบรนด์ Dmask โดยมีคุณสมบัติสำคัญในการจัดการกับไวรัส รวมถึงป้องกันแบคทีเรีย, เชื้อรา, ยูวี และยังมีออกซิเจน โดยปัจจุบันมีช่องทางจำหน่ายผ่านห้างแม็คโครประมาณ 1,000 ชิ้นต่อวัน ซึ่งจะกระจายไปยังร้านขายยาทั้งหมดของแม็คโคร 16 สาขา นอกจากนี้ก็จะเป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ล่าสุดได้เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้เป็น 8,000 ชิ้นต่อวัน หลังจากมีลูกค้าในและตลาดต่างประเทศติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทปีนี้เกิน 100 ล้านบาท


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,562 วันที่ 2 - 4 เมษายน พ.ศ. 2563

สิ่งทอฝ่าวิกฤติ แห่ผลิตหน้ากากผ้า ประคองธุรกิจให้รอด