อุ้ม “แกร็บ” ถูกกฎหมาย รื้อใหญ่ พ.ร.บ.ขนส่ง ปี 22

01 เม.ย. 2563 | 00:05 น.

กรมขนส่ง เดินหน้าแก้ร่างพ.ร.บ. การขนส่งทางบก ปี 2522 หวังครอบคลุมแกร็บถูกกฎหมาย หลังกฤษฎีกาตีกลับกฎกระทรวง พร้อมงัดมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการรถแท็กซี่ต่อเนื่อง

การเปิดโอกาสให้นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชันอย่างถูกกฎหมาย เป็นอีกช่องทาง ทางเลือกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าร่างกฎกระทรวงการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชัน

 

หลังจากที่เสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบนั้น ล่าสุดได้รับข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นชอบให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มากกว่าการออกเพียงแค่กฎกระทรวง ซึ่งการออกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จะทำให้เกิดความชัดเจน สามารถระบุหลักการและสาระสำคัญเกี่ยวกับการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชัน ได้ดีกว่า

 

“ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้เมื่อไรนั้น ยังสรุปไม่ได้ เนื่องจากในกระบวนการแก้ไข เพราะต้องดำเนินการใหม่ หลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบก่อน”

ขณะเดียวกัน หลังจากกรมดำเนินการแก้ไขร่างพ.ร.บ. แล้วเสร็จ เบื้องต้นจะเริ่มจากกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน หลังจากนั้นจะขยายผลไปที่กลุ่มจักรยานยนต์ ส่วนเงื่อนไขรายละเอียดการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชัน จะถูกระบุในกฎกระทรวงว่าจะทำอย่างไรบ้าง

 

นอกจากนี้ ทางกรมมีมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่ เดิมในกฎหมายหรือกฎกระทรวงที่ร่างไว้นั้น ผู้ประกอบการรถแท็กซี่จะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชัน เนื่องจากผู้ประกอบการรถแท็กซี่สามารถรับส่งผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชัน หรือรับส่งผู้โดยสารขาจรได้ ในขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถ รับส่งผู้โดยสารเฉพาะผ่านแอพพลิเคชันเท่านั้น หากพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ ทางกรมจะนำมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่ เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ เขตกรุงเทพ มหานคร ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ลดจำนวนลงมาก

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2563

อุ้ม “แกร็บ” ถูกกฎหมาย รื้อใหญ่ พ.ร.บ.ขนส่ง ปี 22