ชงแพ็กเกจ ลดหนี้แสนล้าน ช่วยเกษตรกรสู้โควิด

29 มี.ค. 2563 | 07:25 น.

สวนยาง-สมาชิกกอง ทุนฟื้นฟูฯลุ้นรัฐคลอดแพ็กเกจลดหนี้เกษตรกรแสนล้านสู้ภัยโควิด กยท.เตรียมประกาศพักเงินต้น งดจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ กฟก.เร่งข้อสรุปเสนอ “จุรินทร์” ชง ครม.ปรับโครงสร้างหนี้ 4.2 หมื่นราย หั่นเงินต้นส่งแบงก์เหลือ 50%

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่กินพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงในไทยที่กำลังขยายวงจนรัฐต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉินเพื่อคุมเข้มทั่วประเทศ ขณะที่ล่าสุด (24 มี.ค. 63) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยการจ่ายเงินให้กับผู้ได้รับผลกระทบรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวม 3 ล้านคน ครอบคลุมแรงงานลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ไม่รวมเกษตรกรนั้น

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการ (บอร์ด) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการประชุมบอร์ด กยท. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ทางบอร์ดได้มีมติให้นายขจรจักษณ์ นวล-พรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. ไปออกประกาศพักเงินต้น และงดจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 จากที่เกษตรกรมีการกู้ยืมเงินตามพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 49 (5) กว่า 283 ล้านบาท เป็นเงินให้กู้เกษตรกรรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท จำนวน 4,221 ราย มูลหนี้กว่า 211 ล้านบาท สถาบันเกษตรกร จำนวน 822 ราย มูลหนี้กว่า 415 ล้านบาท และผู้ประกอบกิจการยาง จำนวน 26 ราย มูลหนี้กว่า 27 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินกู้เกษตรกรตามมาตรา 49(3) จำนวนเกษตรกร 621 ราย เงินกู้กว่า 62 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อวิถีชีวิตและรายได้ของเกษตรกร

ชงแพ็กเกจ ลดหนี้แสนล้าน ช่วยเกษตรกรสู้โควิด

เช่นเดียวกับนายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่เผยว่า ผลสรุปการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สมาชิก กฟก. (25 มี.ค.63)ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กฟก. มีบัญชามอบหมายให้เร่งดำเนินการตามโครงการแก้ไข ปัญหาหนี้เกษตรกร 4 ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตรวจสอบแล้วมีจำนวน 42,344 ราย เงินต้น 7,654.25 ล้านบาท โดยชำระหนี้ตามเงื่อนไขของสมาคมธนาคารไทย คือลดเงินต้น 50% ส่วนดอกเบี้ย หรือค่าปรับตัดทิ้งทุกวงเงิน และกรณีมีหนี้หลายสัญญาและสัญญาใดสัญญาหนึ่งเป็นหนี้ NPL และใช้หลักทรัพย์ประกันเดียวกันให้ชำระหนี้ทุกสัญญาในคราวเดียวกัน ซึ่งทางสำนักงานจะจัดทำข้อสรุปผลหารือให้กับรองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.ต่อไป

“อีกข่าวดีคือกระทรวงยุติธรรม ที่จะขอความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย เพื่อช่วยเกษตรกรที่เป็นหนี้เรื้อรังและยังแก้ไม่ได้มานานนับสิบปี โดยขอให้เลื่อนการบังคับคดีออกไปอีกประมาณ 3 เดือน ซึ่งจะเกิดผลดีกับหนี้สมาชิกกองทุนกว่า 5 แสนราย และมูลหนี้กว่าแสนล้านจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย ยกเว้นหนี้สหกรณ์การเกษตร มีสมาชิกกว่า 1.62 แสนราย จำนวนเงินกว่า 1.61 หมื่นล้านบาท กำลังเจรจาอยู่ว่าจะขอให้เลื่อนบังคับคดีด้วยได้หรือไม่”

ด้านนายยศวัจน์ ชัยวัฒน-สิริกุล รองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คนที่ 1 กล่าวถึงมาตรการข้างต้น ท้ายสุดแล้วอาจจะถึงขั้นยกหนี้เพราะไม่ใช่ความผิดของเกษตรกร เพราะไวรัสโควิดถือเป็นวิกฤติใหม่ที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจและกำลังซื้อ

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2563