เอกชนเชียร์ ‘เจ็บแต่จบ’

28 มี.ค. 2563 | 08:30 น.

ภาคเอกชนเห็นพ้องรัฐบาลงัดยาแรงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมการระบาดเชื้อโควิด-19 ยอมเจ็บ ลดผลกระทบการแพร่ระบาด ประธานสภาหอการค้าฯ ขออย่าประกาศปิดภาคขนส่ง เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้

 

หลังจากประกาศคุมเข้มกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจใช้มาตรการขั้นสูงสุดนั่นคือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 

ในส่วนภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดำเนินการมาตรการขั้นสูงสุดเพื่อสกัดการแพร่ระบาด โดยนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คงสร้างความอึดอัดให้กับประชาชนและภาคธุรกิจบ้าง แต่ก็ถือมีความจำเป็นเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัด ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

“ปกติในช่วงนี้ประชาชนส่วนใหญ่ก็อยู่แต่ในบ้านกันมากขึ้นอยู่แล้ว ภาคธุรกิจก็ทำงานจากที่บ้านกันมากขึ้น กลางคืนถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ออกไปไหนกันอยู่แล้ว ขณะที่โรงงานผลิตสินค้าส่วนใหญ่ก็มีแนวทางปฏิบัติสำหรับคนงานเพื่อคุมเข้มการติดเชื้ออยู่แล้ว ดังนั้นหาก มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือมีเคอร์ฟิวห้ามคนออกจากเคหสถานในระยะเวลาที่กำหนดก็คงไม่กระทบไปจากเดิมมาก แต่ที่สำคัญ
อย่าไปประกาศปิดภาคการขนส่ง หรือระบบโลจิสติกส์เพื่อให้ภาคธุรกิจการค้ายังเดินหน้าต่อไปได้”

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลเป็นสิ่งที่เอกชนเห็นด้วย หรือจะประกาศเคอร์ฟิวก็ได้ ซึ่งผมมองว่าน่าจะประกาศตั้งนานแล้วด้วยซ้ำ และมั่นใจว่าคนทั้งประเทศรับได้ เพราะมองว่าการใช้วิธีการที่เด็ดขาด จะช่วยลดผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้น ยอมเจ็บแต่ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นคลี่คลายลงดีกว่ายืดเยื้อที่จะทำให้ธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าได้ แต่ในการประกาศครั้งนี้ ควรจะมีการกำหนดรายละเอียดต่างๆ ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาให้ชัดเจน เช่น การห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงใด หรือ จะควบคุมอะไร เพื่อให้ภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงการดีลิเวอรี และประชาชนได้วางแผนในการรับมือได้

อีกทั้งผมยังมองว่ามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งเรื่องการแจกเงิน 5 พันบาท รวมถึงมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ก็ถือว่าตอบโจทย์ที่เอกชนเรียกร้อง เมื่อมาตรการออกมาดีแล้ว เราก็หวังว่าจะเห็นการเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

เอกชนเชียร์  ‘เจ็บแต่จบ’

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาคเอกชนถือหลักการเดียวกัน หากภาครัฐประกาศมาตรการต่างๆ ออกมาก็พร้อมให้ความร่วมมือ ในส่วนของมาสด้าได้ปรับการทำงานเป็นเวิร์กฟรอมโฮม เพื่อลดการเดินทาง ส่วนงานบริการต่างๆ ยังสามารถติดต่อได้ทั้งจากบริษัทแม่ และดีลเลอร์ ขณะที่โชว์รูมและศูนย์บริการยังให้บริการตามปกติแต่จะมีมาตรการความปลอดภัย คัดกรอง มีหน้ากาก มีแอลกอฮอล์ มีการทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

“โชว์รูมและศูนย์บริการยังไม่ได้ปรับเวลาเปิด - ปิด ตอนนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่
บางแห่งอาจจะให้พนักงานสลับการทำงานกัน ซึ่งลูกค้าต้องโทร.เข้าไปสอบถามหรือนัดหมายก่อนนำรถเข้ารับบริการ ส่วนการทำงานของบริษัทแม่ตอนนี้ ถือว่าทำตามมาตรการที่ภาครัฐขอความร่วมมือ งดการเดินทาง ลดการรวมตัว เพื่อช่วยไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และไม่ให้ตัวเลขของผู้ที่ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น”

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกมา ในฐานะภาคเอกชนก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้ทุกอย่างสำเร็จและแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์แบบถึงแม้จะกระทบต่อธุรกิจ แต่เชื่อมั่นว่าคู่ค้าทางธุรกิจทุกภาคส่วนอยากเห็นการแก้ปัญหาที่สามารถมองเห็นทางออกได้อย่างชัดเจน

นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการเองต่างต้องการให้สถานการณ์นี้คลี่คลายอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลสามารถพูดคุยหรือหาแนวทางร่วมกันกับภาคเอกชนได้ ก่อนกำหนดเป็นมาตรการที่ชัดเจนและภาคธุรกิจก็ปรับแผนรองรับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบรอบด้าน เช่น การประกาศปิดห้างทันที ทำให้คนทะลักเดินทางกลับภูมิลำเนา เป็นต้น

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA กล่าวว่า “มาตรการเยียวยาเบื้องต้นที่ภาครัฐประกาศเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากยังมีอีกหลายบุคคลที่ต้องการการช่วยเหลือ ขณะที่การกำหนดให้อยู่บ้านจะเป็นการป้องกันการระบาดได้เป็นอย่างดี และในอนาคตต้องมองเรื่องของการฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ จะต้องกลับมาให้ได้ อย่าให้พ้นวิกฤติแล้วประเทศเดินต่อไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการในประเทศไม่สามารถเดินต่อได้”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,560 วันที่ 26 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2563