ครม.อนุมัติแจก5พัน3เดือน-กู้ฉุกเฉินดอกต่ำ ช่วยแรงงานสู้พิษโควิด

24 มี.ค. 2563 | 08:20 น.

อนุมัติมาตรการระยะ 2 แจกเงิน 5 พัน ช่วยแรงงานนอกระบบ ลดผลกระทบสู้ไวรัสโควิด-19

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการระยะที่ 2 เพื่อลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม ทั้งแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ มาตรการแรกคือการเพิ่มสภาพคล่อง ข้อที่ 1 จะสนับสนุนเงินเลี้ยงชีพเดือนละ 5 พันบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อเกินกว่านั้นก็ยังสามารถต่อเวลาออกไปได้อีก

 

มาตรการที่ 2 สินเชื่อฉุกเฉินวงเงิน 4 หมื่นล้านบาทเสริมสภาพคล่องเพื่อป้องกันไม่ให้ไปเป็นลูกหนี้นอกระบบ โดยธนาคารของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย เป็นหลักในการให้สินเชื่อ 1 หมื่นบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน

 

มาตรการที่ 3 สินเชื่อพิเศษ วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท โดยจะให้สินเชื่อมีหลักประกัน 5 หมื่นบาท/ราย อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน

 

มาตรการที่ 4 สำนักงานธนานุเคราะห์ รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 2 พันล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยกับประชาชนไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน

 

นอกจากนี้จะลดภาระให้กับแรงงานด้วยการยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งการยื่นแบบและชำระภาษีออกไปเป็นเดือน ส.ค.63 ให้หักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น จาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์

 

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดสรรสินเชื่อ 1 หมื่นบาทต่อราย วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะเดียวกันยังเตรียมสินเชื่อพิเศษอีก 5 หมื่นบาท สำหรับผู้ที่ยังไม่เพียงพอ โดยในส่วนนี้เตรียมวงเงินรวมไว้ 2 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน

 

ทั้งนี้ สำนักงานธนานุเคราะห์ ยังรับจำนำโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 2 พันล้านบาท คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน

 

มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา(COVID-19)ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2(คลิกอ่านฉบับเต็ม)