"ส้มตะวันตก" ลุยเวนคืนที่ดิน 500 แปลง

28 มี.ค. 2563 | 08:30 น.

ลุยเวนคืน 500 แปลง “ส้มตะวันตก”  ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ พ.ย เซ็นสัญญาแน่ เผยมีความพร้อมสุด แม้ชาวบ้าน รุมต้าน ด้านม่วงใต้ เลื่อนยาวปีหน้า ส่วนต่อขยายสีนํ้าเงิน บางแค-สาย 4 สะดุด รอประเมินผู้โดยสาร หลังเชื้อโรคระบาดหนัก

แม้เชื้อโควิด-19 จะกระทบรุนแรงแต่การผลักดัน เมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ อย่างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก มูลค่า 1.2 แสนล้านบาทต้องเดินหน้าให้ได้ตามแผน เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ อยู่ในความสนใจของภาคเอกชน  อีกทั้งยังเป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วนแก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ให้สำเร็จลุล่วงตามแผนที่วางไว้ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) มีเป้าหมายเซ็นสัญญากับเอกชนกับผู้รับสัมปทานให้ได้ภายใน เดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ทั้งนี้จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ขึ้นอยู่กับไวรัสโควิดที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรับมือ รวมถึง การคัดค้านของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

"ส้มตะวันตก" ลุยเวนคืนที่ดิน 500 แปลง

ขณะเส้นทางอื่นอย่าง รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจาก  สายสีม่วง ซึ่งเปิดให้บริการปัจจุบันอาจต้องชะลอออกไป จากเดิม ต้องประมูลในระยะเวลาไล่เลี่ยกันกับ สายสีส้มตะวันตก แต่ไม่สามารถผลักดันให้เป็นไปตาม แผนที่วางไว้ได้ เนื่องจาก ต้องปรับในเรื่องของเงื่อนไขข้อกำหนด ของผู้รับจ้าง หรือทีโออาร์ ให้เกิดความรัดกุม รวมถึง ต้องรอพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.เวนคืน) ที่ต้องปรับให้ตรงกับพระราชบัญญัติเวนคืนฉบับใหม่   

สำหรับ ส่วนต่อขยายสายสีนํ้าเงิน ช่วง บางแค-พุทธมณฑลสายสี ระยะทาง 4-5 กิโลเมตร มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท อาจต้องเลื่อนการประมูลออกไปเป็นปี 2564  จากผลกระทบโควิด ที่ ส่งผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามอาจมี เมกะโปรเจ็กต์ อีกหลายโครงการที่ไม่สามารถเดินตามแผนได้  ทั้ง บรรยากาศ ไม่เอื้ออำนวย  การให้ความสำคัญของรัฐบาลในการตั้งรับเกี่ยวกับ ไวรัสโควิด แต่ในระยะยาวมองว่า การขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ยังมีความจำเป็น ต่อการกระจายเม็ดเงินลงทุนลงสู่ระบบฐานราก นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร ว่า รฟม.อยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาเห็นชอบการออกพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน ซึ่งตลอดแนวมีที่ดินได้รับผลกระทบราว 500 แปลง บริเวณสถานีประชาสงเคราะห์ มีการ ร้องเรียนจากชาวบ้าน ล่าสุดอยู่ระหว่างชี้แจงรายละเอียด อย่างไรก็ตาม รฟม.มีความมั่นใจ ว่าจะเปิดประมูลได้ในราวกลางปีนี้ หากกระบวนการต่างๆ แล้วเสร็จจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงเดือนตุลาคม และสามารถ   ลงนามสัญญาได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงตอนใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอ พ.ร.ฎ.การเวนคืนที่ดิน ขณะเดียวกันได้มีการปรับแผนดำเนินการใหม่ ด้านการประกวดราคา (TOR) หากปรับแล้วเสร็จจะเร่งเสนอคณะกรรมการ รฟม.(บอร์ด) พิจารณา ส่งผลให้การประมูลสายสีม่วงใต้ล่าช้า คาดว่าจะมีการประมูลสายนี้ภายในเดือนมีนาคม 2564

สำหรับความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม. อธิบายว่า ต้องเลื่อนแผนโครงการดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากทางรฟม.ต้องรอผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการของรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง รวมถึงต้องดูจำนวนผู้โดยสารจากการขยายเวลาลดค่าโดยสารทั้งรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสองและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ที่เปิดให้บริการ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลจำนวนผู้โดยสารมาประเมินอีกครั้ง หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง คาดว่าจะใช้เวลาประเมินราว 3-6 เดือนเพื่อดูทิศทางจำนวนผู้โดยสารที่มีความต้องการใช้บริการช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4

“ส่วนผู้ที่จะลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทางราวไม่เกิน 4 กิโลเมตร จำนวน 2-3 สถานี เมื่อดูจากหลักการแล้วถ้าเป็นการลงทุนรายใหม่อาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากผู้ลงทุนรายใหม่จะต้องลงทุนและบริหารจัดการหลายด้าน หากเป็นผู้ลงทุนรายเดิมหรือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  จะช่วยประหยัดงบประมาณมากกว่า ขณะที่การเวนคืนที่ดิน เรายังไม่ได้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ต้องนำผลการประเมินจำนวนผู้โดยสารมาพิจารณา เชื่อว่าจะไม่ทันประมูลภายในปีนี้”

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,560 วันที่ 26-28  มีนาคม พ.ศ. 2563

"ส้มตะวันตก" ลุยเวนคืนที่ดิน 500 แปลง