รายได้ลด-ตกงาน 5ล้านคน จี้รัฐให้หลักประกัน‘คนยากไร้’

22 มี.ค. 2563 | 06:10 น.

พิษโควิด-19ลามเศรษฐกิจ ธุรกิจท่องเที่ยวจ่อปลดกว่าล้านคน ส.อ.ท.จี้รัฐตั้งกองทุนแสนล้านประกันรายได้คนตกงาน นักวิชาการแรงงานเร่งจัด “รัฐสวัสดิการ” รองรับกลุ่มรายได้ระดับล่าง ชงไอเดียจ้างบิ๊กคลีนนิ่งทั่วประเทศ ช่วยเจ้าพนักงานคุมโรคหาก “ล็อกดาวน์” บูรณะแหล่งท่องเที่ยวชุมชน 

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลกระทบโควิด-19 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวมีปัญหาสภาพคล่องทั้งระบบ รายที่ไม่ไหวต้องปิดกิจการ ที่ยังอยู่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ลดค่าใช้จ่าย รอเวลาว่าจะจบเดือนมีนาคมนี้

แต่ตอนนี้ลากยาวไปอีกทำให้กิจการจะขาดกระแสเงินสดไปอีก 5-6 เดือน โดยการระบาดทั้งโลกจบได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้ทั้งปีมีต่างชาติเข้าไทยลงราว 30-40% รายได้ การท่องเที่ยวจะหายไป 7.5-9.9 แสนล้านบาท

“ตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะเริ่มเห็นการปิดบริษัท เลิกจ้าง เนื่องจากประคองต่อไปไม่ไหว แม้ภาครัฐจะออกมาตรการดูแลผลกระทบ ระยะ 1 โดยเฉพาะวงเงินซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาทแลกกับการไม่เลย์ออฟพนักงาน แต่กิจการเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึง และไม่ทันกาลแล้ว”

สทท.คาดจะมีธุรกิจปิดตัวอย่างน้อย 5,000-10,000 ราย จากที่มีอยู่ 50,000 ราย มีพนักงานถูกเลิกจ้าง 1-1.2 ล้านตำแหน่ง รายที่ยังอยู่แต่ถูกลดรายได้ เช่น ตัดลดเงินเดือน ให้พักงานลางานโดยไม่รับเงินเดือนกว่า 3 ล้านตำแหน่ง จากแรงงานในภาคการท่องเที่ยว

 

ส.อ.ท.จี้ประกัน

รายได้คนตกงาน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์เลิกจ้างเริ่มมีบ้างแต่ยังไม่เยอะมากในภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ผู้ประกอบการพยายามรักษาพนักงานไว้ให้ผ่านวิกฤติ ซึ่งต้องติดตามกันใกล้ชิด

ส.อ.ท. ได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) โดยปล่อยกู้ให้รายละประมาณ 20 ล้านบาท มีผ่อนชำระประมาณ 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 2% ต่อปี

ส่วนผู้ที่ถูกเลิกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจจะต้องมีเงินเดือนให้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มความรู้ หรือประสิทธิภาพในการทำงานอย่างน้อยเดือนละ 1 หมื่นบาท

กองทุนดังกล่าวอาจจะมาจากการที่รัฐบาลออกพันธบัตรขึ้นมาโดยมองว่าเครดิตของรัฐบาลยังดีอยู่ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้หากการระบาดของโรคเข้าสู่ระยะ 3 จนต้องปิดเมือง อาจจะมีผู้ที่ถูกเลิกจ้างประมาณ 1 ล้านราย

 

ดูแลคนยากไร้ “แจกเป็นแจก”

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จีดีพีติดลบกระทบรายได้มหาศาลที่หายไปจากระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มรายได้ระดับกลาง ตํ่าถึงล่าง จะเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก นอกจากที่เป็นพนักงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้างแล้ว ยังมีกลุ่มอาชีพอิสระมีอาชีพหลากหลาย ซึ่งเวลานี้ทีดีอาร์ไอเร่งทำงานกับสภาวิจัยแห่งชาติ เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนเพื่อทำข้อเสนอเชิงนโยบายโดยเร็วอยู่

รายได้ลด-ตกงาน  5ล้านคน  จี้รัฐให้หลักประกัน‘คนยากไร้’

ผลกระทบครั้งนี้จะแรงมาก ที่กระทบแล้วคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง เมื่อลูกค้าลด ลูกจ้าง รายวันถูกเลิกจ้างก่อนร้านค้ารายได้หดหายตาม จะกลับไปทำเกษตรก็เจอภัยแล้ง ซํ้าเป็นช่วงเปลี่ยนเทคโนโลยี คนถูกเลิกจ้างมีโอกาสกลับมาได้งานน้อย นอกจากมีทักษะด้านไอที ขณะที่การระบาดยังไม่นิ่ง ทำให้บริหารจัดการได้ยาก

นายยงยุทธ ยํ้าว่า รัฐต้อง ยอมทุ่มเทงบประมาณและทรัพยากร เพื่อยุติสถานการณ์ระบาดให้ได้โดยเร็ว จัดหาวัสดุุอุปกรณ์สนับสนุนทางการแพทย์ให้เพียงพอ เพื่อคุมการระบาดให้อยู่ อย่าให้คนโยกย้ายเพิ่มโอกาสการ
กระจายโรค โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์นี้ทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว ขณะเดียวกันต้องดูแลรายได้ของคนตกงานหรือผู้ขาดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย รัฐต้องจัดสวัสดิการให้ผ่านช่วงลำบากนี้ไปให้ได้

“คนที่มีอาชีพอยู่กับสถานบริการ 14 วันที่ถูกสั่งปิดต้องสูญเสียรายได้ไม่น้อย รัฐต้องเข้าไปดูว่ารายได้ขั้นตํ่าเพื่อให้ยังชีพ ต้องใช้เท่าไหร่ เช่น คนละ 2,500-3,000 บาทต่อเดือน อยู่กัน 4 คนก็ให้ไป 12,000 บาท ถ้าต้องแจกก็ต้องแจก จะใช้เป็นการจ้างงานชั่วคราว หรือจัดหลักสูตรอบรมฝึกทักษะใหม่โดยมีเบี้ยเลี้ยงก็ต้องทำ โดยหลักเพื่อประทังชีวิตไปในช่วงนี้”

 

ชงจ้างทำ“บิ๊กคลีนนิ่ง” ทั่วประเทศ

ด้านนายณรงค์  เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ชี้ว่า รายได้หรือกำลังซื้อนี้เป็นตัวขับเคลื่อนที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจ ตัวหลักคือค่าจ้างเงินเดือนพนักงานและข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ กับอีกส่วนคือรายได้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระและเกษตรกร การสูญเสียรายได้ ทำให้กำลังซื้อในระบบลดลงซึ่งรัฐต้องรีบเข้าไปดูแลนอกจากประกันรายได้ขั้นตํ่าให้ประทังตัวไปได้อาจใช้เงิน 3-4 หมื่นล้านบาทสร้างการจ้างงาน โดยจ้างคนหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็งแรงทำบิ๊กคลีนนิ่งทั่วประเทศ อบรมให้ความรู้ รัฐบาลลงทุนจัดซื้อชุด ป้องกันการติดเชื้อ จัดหานํ้ายาวัสดุอุปกรณ์ แบ่งทีมแบ่งพื้นที่ ทำความสะอาดเมืองครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

หากประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ระบาด ก็จ้างงานผู้ขาดรายได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานซึ่งจะต้องมีคนดูแลจัดส่งสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นให้ประชาชน โดยแบ่งพื้นที่ดูแลกันเป็นโซนเป็นบล็อกลงถึงตรอกซอย ต่างๆ อาจจ้างแรงงานมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เวลานี้รายได้ลดเพราะลูกค้าไม่กล้าใช้บริการเข้ามาร่วมด้วย

รายได้ลด-ตกงาน  5ล้านคน  จี้รัฐให้หลักประกัน‘คนยากไร้’

อีกกิจกรรมที่สร้างการจ้างงานทั่วประเทศ และเป็นการเตรียมรับเมื่อพ้นช่วงระบาดให้การท่องเที่ยวฟื้นกลับคืนมาได้แข็งแกร่งกว่าเดิม คือ โครงการฟื้นฟูบูรณะแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ ให้กระจายไปถึงแหล่งท่องเที่ยวระดับชุมชน เพื่อกระจายการจ้างงานไม่ให้มีคนหนาแน่นลดความเสี่ยงการติดโรค เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ มีสภาพที่ดีขึ้น ทั้งนี้ วงเงิน 2,700 ล้านบาทจากงบกลางเพื่อทำโครงการจ้างงานที่ครม.อนุมัติไว้นั้นไม่เพียงพอแน่ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,559 วันที่ 22 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2563