ส่อล่าช้า แหลมฉบัง เฟส 3 คาดเซ็นสัญญา พ.ค.63

16 มี.ค. 2563 | 10:12 น.

กทท.ชี้ หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ผิดคุณสมบัติยื่นซองประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง  เฟส 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F   ดึง GPC  เจรจาผลตอบแทน 18 มี.ค.63  คาดลงนามสัญญาล่าช้า พ.ค.63

 

 

 

 

เรือโท กมลศักดิ์  พรหมประยูร  ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง  เฟส 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ เปิดเผยว่า  หลังจากศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง  เฟส 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ ที่มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP (ประกอบด้วย บริษัทนทลิน จำกัด  บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้  จำกัด  บริษัทพริมา  มารีน  จำกัด  บริษัทพีเอชเอส  ออแกนิค  จำกัด และ Chaina Railway Construction Corporation Limited)  เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 นั้น ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ลงนามในแบบฟอร์มสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ ตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ถือเป็นการผิดสาระสำคัญ ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้ยื่นรายอื่น ขณะเดียวกันกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลของการไม่ลงนามในช่องที่กำหนด  ถือเป็นความบกพร่องของกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP

 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการเจรจาระหว่างกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่มบมจ.ปตท (PTT) , บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์(GULF) , บริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited) เกี่ยวกับผลตอบแทนให้กับรัฐ ในวันที่  18 มี.ค.63 โดยอยู่ระหว่างการเจรจาเอกสารการประกวดราคาซองที่ 4 หากการเจรจาซองที่ 4 ผ่านไปได้ด้วยดี จึงจะสามารถเจรจาเปิดเอกสารซองที่ 5 ได้ กรณีผ่านการเจรจาครบทั้ง 5 ซอง จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)  และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.หรือ อีอีซี) พิจารณา  หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป  คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือน พ.ค. 63 จากเดิมลงนามสัญญาตามแผนภายในเดือน เม.ย.63

 

กระบวนการเจรจาในครั้งนี้จะต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งเป็นงานหนักของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง  เฟส 3  ที่ต้องเจรจาผลประโยชน์ค่าตอบแทน ให้ใกล้เคียงกับกรอบราคากลางที่มติครม.อนุมัติไว้ ราว 32,225 ล้านบาท เนื่องจากเอกชนได้เสนอผลประโยชน์ค่าตอบแทน อยู่ที่  12,000 ล้านบาท

 

เรือโท กมลศักดิ์  กล่าวต่อว่า  หากไม่มีสถานการณ์การติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง  เฟส 3  ในส่วนของท่าเทียบเรือ F   จะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างราว 5-6 ปี ซึ่งปัจจุบันผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ส่งผลให้โครงการดังกล่าวล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้เกือบ 1 ปี หรือเปิดให้บริการภายในปลายปี 66 โดยตามแผนจะเปิดให้บริการภายในต้นปี 66 ขณะเดียวกันสินค้าหลักที่ส่งมาจากประเทศจีนถูกชะลอออกไป  เนื่องจากประเทศจีนมีการปิดประเทศ ส่งผลให้ปริมาณตู้ส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังลดลง ลดลง จำนวน 200,000 ตู้ คิดเป็น 3%  ในขณะที่ปริมาณตู้ส่งสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ลดลง จำนวน 100,000 ตู้