ชง 4 มาตรการเร่งด่วน ลด-ขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้า

09 มี.ค. 2563 | 11:30 น.

กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอ ครม. พิจารณา 4 มาตรการเร่งด่วนช่วยประชาชนลดผลกระทบโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง คาดมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 4.5 หมื่นล้านบาท

นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากปัญหาโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง 4 มาตรการเร่งด่วน โดยจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 มีนาคม 63 นี้ประกอบด้วย 1.การคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า หรือประกันมิเตอร์จำนวน 22.5 ล้านรายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 (ที่อยู่อาศัย) และประเภทที่ 2 (กิจการขนาดเล็ก) โดยแต่ละรายจะได้รับเงินคืนจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับการวางวงเงินประกันไว้เท่าไหร่ตอนยื่นขอมิเตอร์ไฟฟ้า  ซึ่งจะทยอยคืนได้ในรอบเดือนมีนาคมนี้กับการไฟฟ้าที่ยื่นขอ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  โดยคาดว่าจะมีเงินคืนเข้าสู่ระบบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ชง 4 มาตรการเร่งด่วน ลด-ขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้า

                “หากถามว่าจะกระทบกับการไฟฟ้าอย่างไรบ้างนั้น  มองว่าคงจะไม่กระทบ  เพราะเงินเหล่านี้เดิมทีจะถูกเก็บไว้เป็นเงินประกัน  ดังนั้น  เมื่อประชาชนเดือดร้อน  รวมถึงได้มีคณะกรรมการด้านปฏิรูปไปศึกษาในการมีขข้อเสนอดังกล่าว  และเห็นพ้องต้องกันที่จะบรรเทาภาระประชาชนในการคืนเงินประกันที่เก็บรักษาไว้ที่การไฟฟ้า  เพื่อช่วยในภาวะที่กำลังเดือดร้อน”

,2. การลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที (Ft) โดยรวม 23.2 สตางค์ต่อหน่วย  ซึ่งจะทำให้ค่าไฟที่เรียกเก็บจากประชาชนโดยรวม (รวมค่าไฟฐาน) คงอยู่ที่ 3.50 บาทต่อหน่วยเป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 63) โดยเป็นการบริหารจัดการในส่วนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ได้นำเงินจากการไฟฟ้าลงทุนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ (Call Back) และเงินช่วยเหลือจาก กฟภ. และ กฟน. อีก 4,800 ล้านบาท รวมประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท

ชง 4 มาตรการเร่งด่วน ลด-ขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้า

"ค่าไฟฟ้ารวมขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 3.60 บาท โดย Ft จะมีการปรับตามทิศทางต้นทุนการผลิตทุก 4 เดือน ซึ่งหากไม่ทำอะไรในงวดต่อไป (พ.ค.-ส.ค.) จะต้องขึ้น 11.60 สตางค์ต่อหน่วย หรือค่าไฟรวมจะขึ้นไปอยู่ที่ 3.70 บาทต่อหน่วย จึงนำเงินมาดูแลไม่ให้ขึ้นและนำเงินอีกส่วนหนึ่งมาทำให้ลดลงอีก 11.60 สตางค์ต่อหน่วย และทำให้ค่าไฟรวมลดลงมาอยู่ที่ 3.50 บาทต่อหน่วย"
                ,3.ขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้า 2 รอบบิล ได้แก่ เดือนเมษายนและเดือนนพฤษภาคมออกไปได้นาน 6 เดือนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 ,รวมถึงประเภทที่ 2 และประเภทที่ 5 (โรงแรม) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวจากปัญหาโควิด-19

และ4.จะมีเงินเบื้องต้นจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าประมาณ 4 พันล้านบาท  โดยเงินทุนดังกล่าวเดิมทีจะใช้ในการดำเนินการอยู่ 72 จังหวัด  เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในพื้นที่  แบ่งเป็นงบปี 63 ประมาณ 2.5 พันล้านบาท  และเป็นงบปี 62 คงเหลือประมาณ 1.5 พันล้านบาท  โดยนำไปใช้ในการสร้างงาน  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก  ไม่ว่าจะเป็นการขุดรอกคูคลอง  ขุดบ่อบาดาล  เป็นต้น  ซึ่งจะมีผลต่อการแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นด้วย  โดยจะเป็นนำโครงการเดิมทั้งหมดมาพิจารณาในการการเร่งการจัดซื้อจัดจ้าง  และการปรับโครงการให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว

ชง 4 มาตรการเร่งด่วน ลด-ขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้า

                “งบประมาณเบื้องต้นจะอยู่ที่ 4 พันล้านบาท  โดยคาดว่าจะมีงบประมาณเข้ามามากกว่านี้จากหน่วยงานอื่น  โดยที่โดยที่กระทรวงพลังงานจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงการคลัง  กระทรวงมหาดไทย และหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปลัดกระทรวงพลังงานจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือต่อไป  โดยเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเพื่อไปสร้างงาน  ซึ่งจะเป็นโครงการคล้ายกับโครงการมิยาซาว่าที่เคยทำมาในอดีต  ซึ่งกระทรวงพลังงานได้รับมอบหมายให้เป็นแม่งานในการดำเนินการ  อย่างไรก็ดี  จากมาตรการทั้งหมดคคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 4.5 หมื่น้ลานบาท”