หน้ากากอนามัย โตพรวด2หมื่นล้าน

28 ก.พ. 2563 | 04:00 น.

“โคโรนา” ดันอุตสาหกรรมหน้ากากอนามัยไทยโต คาดปี 63 ตลาดพุ่ง 2 เท่า มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้าน พาณิชย์เผยยังคุมเข้มส่งออกเพื่อให้พอใช้ หลังความต้องการกว่า 50 ล้านชิ้นต่อเดือน ชี้งานนี้โรงงานผลิต-ผู้ค้าได้อานิสงส์

สถานการณ์ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ที่กำลังแพร่ระบาดสร้างความกังวลไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย จากที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 8.2 หมื่นคน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2,800 คน ส่งผลให้แต่ละประเทศได้ประกาศแผนรับมือกันเต็มพิกัด อีกด้านหนึ่งส่งผลให้มีความต้องการหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยในไทยความต้องการเพิ่มขึ้นจากปกติถึงเท่าตัว สินค้าในตลาดยังขาดแคลน ผู้ค้าบางส่วนถือโอกาสปรับขึ้นราคา

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิชผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มูลค่าตลาดหน้ากากอนามัยของไทยกรณีเหตุการณ์ปกติมีมูลค่าประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ในกรณีไวรัสโคโรนาส่งผลให้มีความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละประมาณ 30 ล้านชิ้น เป็น 50 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว มูลค่าตลาดหน้ากากอนามัยของไทยในปี 2563 คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 15,000-20,000 ล้านบาท(กราฟิกประกอบ) เป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤติที่โรงงานผลิต ผู้ค้า และผู้นำเข้าจะสร้างรายได้ธุรกิจเพิ่มขึ้นในปีนี้

หน้ากากอนามัย โตพรวด2หมื่นล้าน

นายประโยชน์ เพ็ญ-สุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของไทยประมาณ 10 โรง ได้เพิ่มกำลังผลิตเต็มเพดานที่ 50 ล้านชิ้นต่อเดือน(ผลิต 24 ชม.) ถือว่ามีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ หากแบ่งปันให้กับผู้ที่มีความจำเป็นในการใช้ก่อน รวมถึงหากทุกคนใช้เท่าที่จำเป็นและไม่มีการซื้อตุนไว้มาก เวลานี้ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย(วอร์รูม)ของกระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานกับโรงงานผลิตเพื่อป้อนหน้ากากอนามัยให้กับหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้และร้องขอมา

อาทิ การบินไทย 1.8-2 หมื่นชิ้นต่อวัน, องค์การเภสัชกรรม 3.5 แสนชิ้นต่อวัน โรงพยาบาลรัฐ 2 แสนชิ้นต่อวัน รวมถึงการจัดส่งให้กับร้านธงฟ้ากว่า 8 หมื่นร้านทั่วประเทศ ให้กับสมาคมร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ และโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ

“คนไทยมีกว่า 60 ล้านคน เอาแค่ 30 ล้านคนที่ใช้ต่อวัน ก็ 30 ล้านชิ้น ถ้าใช้อย่างถูกต้องและใช้ซํ้าได้เช่น หน้ากากผ้า และใช้ในกลุ่มที่มีความจำเป็นจริงๆ ก็เพียงพอ เช่น ใช้ในผู้ป่วย คนร่างกายอ่อนแอ คนที่ต้องไปในที่ที่มีคนมาก ๆ ถ้าอย่างนี้เพียงพอ แต่ถ้า 60 ล้านคนออกจากบ้านพร้อมกันและต้องใส่หน้ากากอนามัย 60 ล้านชิ้นต่อวันก็คงไม่พอ”

นอกจากนี้ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.)ยังขอความร่วมมือโรงงานผลิตและผู้ค้างดการส่งออกหน้ากากอนามัยในช่วงนี้ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งคู่ค้าก็คงเข้าใจ เพราะในหลายประเทศก็งดการส่งออก เช่น จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เพื่อให้สินค้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศเช่นกัน ที่ผ่านมาโรงงานผลิตในไทยมีการส่งออกหน้ากากอนามัยไม่มาก เพราะต้นทุนการผลิต และ ราคาสู้สินค้าจากจีนที่เป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัยรายใหญ่ของโลกที่มีต้นทุนการผลิตตํ่ากว่าไม่ได้ ที่ผ่านมาแต่ละโรงงานจะผลิตตาม ออร์เดอร์ และไม่มีการตุนวัตถุดิบไว้มากๆ เมื่อเกิดสถานการณ์ไวรัสโคโรนาที่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติจึงต้องใช้เวลาในการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตเพิ่ม

“การเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 50 ล้านชิ้นต่อเดือน ส่วนหนึ่งก็ทำให้โรงงานผลิต และผู้ค้าหน้ากากอนามัยในปีนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทางกรมพยายามควบคุมดูแลไม่ให้สินค้าขาดแคลน มีการล่อซื้อ และไปไล่จับผู้ที่ขายเกินราคา พวกที่โพสต์ขายสินค้า จ่ายเงินแล้วไม่ได้ของก็ติดตามมาลงโทษ ขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้”

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2563

หน้ากากอนามัย โตพรวด2หมื่นล้าน