‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นฟ้อง นายกฯ-กทพ.ปมเซ็นสัญญายุติค่าโง่ทางด่วน

27 ก.พ. 2563 | 06:43 น.

‘ศรีสุวรรณ ฟ้อง นายกฯ-กทพ. หลังเซ็นสัญญายุติค่าโง่ทางด่วนฉบับแก้ไข หวังเอื้อเอกชน เชื่อผลักภาระประชาชนใช้ทางด่วนขั้นที่ 2  เร่งคมนาคมตรวจสอบหาผู้กระทำผิด

 

 

 

 

วันนี้ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำคณะราษฎรไทยแห่งชาติและกล่มประชาชนมายื่นฟ้อง นายกรัฐมนตี คณะรัฐมนตรี และ กทพ.ต่อศาลปกครองกลาง โดยนายศรีสุวรรณ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 18 ก.พ.63 ที่ผ่านมาเห็นชอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ลงนามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อยุติข้อพิพาททั้ง 17 คดีที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท โดยมีการต่อขยายสัญญาโครงการทางด่วนเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน จะทำให้สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A, B, C) ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C บวก) สิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค. 2578 โดย กทพ.และ BEM ได้ลงนามต่อสัญญากันไปแล้วเมื่อ 20 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น

 

นายศรีสุวรรณ  กล่าวต่อว่า  การต่อสัญญาอย่างรวดเร็วหลังมีมติ ครม.เพียงไม่กี่วันเป็นข้อพิรุธที่ผิดสังเกต  ซึ่งเป็นการผลักภาระให้เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้ทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A, B, C) ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ให้ยาวนานเพิ่มขึ้นไปอีก โดยประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการทำให้เกิดข้อพิพาทจนทำให้เอกชนฟ้องร้อง อาจมีทั้งบุคคลและกลุ่มบุคคล ซึ่งกระทรวงคมนาคม ควรที่จะเร่งสอบสวนหาผู้ที่กระทำความผิดที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนจนนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีที่ศาลปกครอง และที่สำคัญคดีที่ฟ้องร้องกันอยู่ที่ศาลปกครอง เป็นคดีสาธารณะจะถอนฟ้องได้อย่างไร การที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายอ้างว่าจะรีบถอนฟ้องเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามสัญญารอบใหม่นี้นั้น เชื่อว่าศาลปกครองไม่น่าจะอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ เพราะจะเท่ากับใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการเอื้อประโยชน์กัน อีกทั้งโดยหลักแล้วเมื่อหน่วยงานราชการเป็นคดีความในชั้นศาลปกครองแล้ว ต้องต่อสู้คดีไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่การมาขอถอนฟ้องโดยอ้างมูลหนี้พิพาทจะสูงถึง 3 แสนล้านบาท หากปล่อยให้คดีถึงที่สุดนั้น แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า กทพ.ไม่มีความจริงใจในการสู้คดี กำลังทำให้เป็นมวยล้มต้มคนดูใช่หรือไม่

 

อย่างไรก็ตามสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และกลุ่มคณะราษฎรไทยแห่งชาติ จึงไม่อาจปล่อยให้หน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ ใช้อำนาจรัฐมากระทบสิทธิของประชาชน โดยนำประชาชนผู้ใช้ทางด่วนไปร่วมแบกรับหนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นปัญหาที่ภาครัฐก่อขึ้นมาเองได้แต่กลับใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน สมาคมฯและคณะราษฎรไทยแห่งชาติจึงจำต้องนำความไปฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการต่ออายุสัญญาสัมปทานดังกล่าวทั้งหมดต่อไป