ลุ้นจีนสยบ‘โคโรนา’ ทุเรียนไทย หวังออร์เดอร์ทะลัก

26 ก.พ. 2563 | 23:00 น.

 

 

เชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ได้อุบัติขึ้นในจีน รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศพร้อมสั่งปิดเมืองที่คาดว่าจะมีการติดเชื้อ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคทันที ผล
กระทบทำให้หลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือ “ไทย” ที่พึ่งพาเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงภาคส่งออก ซึ่งมีผลไม้คือ “ทุเรียน” เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักไปจีน (ปี 2562 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีน 2.6 หมื่นล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 49%) ยังต้องลุ้นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ฟังจากปากของ นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย ที่ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังนี้

 

ราคายังดีเกินคาด

นายฉัตรกมล กล่าวว่า จากเชื้อไวรัสโคโรนาที่ยังแพร่ระบาดในจีน ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทุเรียนไทยที่ผลผลิตล็อตใหญ่กำลังจะทยอยออกสู่ตลาดเริ่มมีความวิตกกังวลกันมากขึ้น เกรงจีนจะลดการนำเข้า เบื้องต้นคาดราคาอาจจะไม่ดีเท่าปีที่แล้ว เพราะจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอาจกระทบกับระบบโลจิสติกส์ในจีน ที่อาจขนส่งไกลขึ้นจากบางมณฑลปิดเมือง อาจนำมาถัวเฉลี่ยค่าขนส่งทำให้ราคารับซื้อทุเรียนหน้าสวนของเกษตรกรลดลง

ลุ้นจีนสยบ‘โคโรนา’  ทุเรียนไทย  หวังออร์เดอร์ทะลัก

                           ฉัตรกมล  มุ่งพยาบาล

“อย่างไรก็ดีในข้อเท็จจริงเวลานี้ กลายเป็นพอเปิดต้นฤดูกาลเท่านั้น ราคาทุเรียนไทยก็เหนือความคาดหมายราคาดี เริ่มต้นที่ 130-140 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณทุเรียนช่วงนี้คาดจะออกมาประมาณ 5 หมื่นตัน จากผลผลิตมีน้อยพ่อค้าแย่งซื้อ ในปีนี้ภาคตะวันออกคาดจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากกว่า 20% ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พยากรณ์ แต่ก็ไม่น่ากังวล เนื่องจากความต้องการของคู่ค้ายังสูง ขณะที่ปีที่แล้วมีล้ง (โรงคัดบรรจุผลไม้) ที่มาขึ้นทะเบียนขอการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อส่งออกมีเพียง 200 โรง แต่ปีนี้มาขึ้นทะเบียน และผ่านการรับรองแล้ว 442 โรง และอยู่ระหว่างรอตรวจสอบอีก 121 โรง รวม 563 โรง และกำลังจะมีรายใหม่อีกเป็นจำนวนมาก”

 

ทุเรียนคุณประโยชน์อื้อ

ดังนั้นในขณะนี้ความวิตกกังวลของเกษตรกรได้ลดลงระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัจจัยเหนือการควบคุมอื่นๆ อีกซึ่งต้องประเมินเป็นระยะ แต่ “ทุเรียน” สำหรับชาวจีนเป็นวัฒนธรรมการบริโภค ที่มีความเชื่อว่าการได้รับประทานทุเรียน เป็นสิ่งบำรุงสุขภาพชั้นดี มีวิตามิน A B C เต็มไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุ มีประโยชน์มากกว่ามะม่วงหรือผลไม้ชนิดอื่นๆ ยกตัวอย่าง ชาวจีนกวางตุ้ง เชื่อว่าทุเรียน 1 ลูกบำรุงร่างกายได้เท่ากับไก่ 3 ตัว บ้างก็ว่าเป็นผลไม้บำรุงสำหรับคนหลังคลอด ช่วยฟื้นฟูพลังงานได้ดี ในผู้ชายมีคุณสมบัติบำรุงไต ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

ลุ้นจีนสยบ‘โคโรนา’  ทุเรียนไทย  หวังออร์เดอร์ทะลัก

 

 

ทั้งนี้รายงานการบริโภคทุเรียนของโลกต่อคนต่อปี (กราฟิกประกอบ) ชาวมาเลเซียบริโภคสูงสุด 11 กิโลกรัม (กก.) ต่อคนต่อปี รองลงมา ไต้หวัน 3.20 กก. และสิงคโปร์ 3.18 กก. ส่วนชาวจีนยังบริโภคเพียง 0.21 กก.ต่อคนต่อปี ยังมีอัตราการเติบโตได้อีก ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวของประชากรจีนย่อมส่งผลต่อความต้องการบริโภคทุเรียนมากขึ้นตามมา อีกทั้งจำนวนประชากรจีนที่มีมากกว่า 1,400 ล้านคน การขยายตัวของอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศจีนจะมีผลต่อปริมาณการนำเข้าทุเรียนของจีนอย่างมาก คาดอีก 10 ปีข้างหน้าชาวจีนยังบริโภคเพียง 0.9 กก.ต่อคนต่อปี

ลุ้นจีนสยบ‘โคโรนา’  ทุเรียนไทย  หวังออร์เดอร์ทะลัก

                      

“หากเราผลิตและส่งออกทุเรียนคุณภาพจะตอบโจทย์ ทุกคนต้องมีจรรยาบรรณ เกษตรกรก็ต้องไม่ตัดทุเรียนอ่อน การค้าก็จะเกิดความยุติธรรม และวิน วินทุกฝ่าย”

 

ไม่ต่ำ 60 บาทก็ยังโอเค

นายฉัตรกมล กล่าวอีกว่า ราคาทุเรียนต้นฤดูกาลนี้หายห่วงแล้ว ต้องมาประเมินช่วงกลางเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผลผลิตจะออกมามากประมาณ 3-4 แสนตัน ราคาจะเป็นอย่างไร เพราะผลผลิตมากกว่าปีที่แล้ว ส่วนตัวยังมองในแง่บวก เนื่องจากสถานการณ์ในจีนมีการรายงานว่าสามารถผลิตยาต้านไวรัสโคโรนาได้แล้ว หากชาวจีนสามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติก็จะมีความต้องการบริโภคทุเรียนเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากราคาทุเรียนหน้าสวนในเดือนเมษายนไม่ต่ำกว่า 50-60 บาทต่อกก. ฟันธงได้ว่าเศรษฐกิจภาคตะวันออกไม่มีคำว่ารวยกระจุก จนกระจาย แต่จะอยู่ได้ทุกหย่อมหญ้า

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3552 วันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2563