จีนสะดุด ฉุดโลกป่วน ตู้สินค้าขาด

26 ก.พ. 2563 | 22:30 น.

โคโรนาพ่นพิษค้าโลกสะดุดยาว สินค้ายังตกค้างท่าเรือในจีนอื้อ จับตาไตรมาส 2 ทำตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนหนัก  ม.หอการค้าฯฟันธงค้าโลกปี 2563 โต ตํ่า 2.7% 


การระบาดของไวรัสโคโรนา ในระยะแรกไม่ส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แต่เมื่อจีนประกาศวันหยุดต่อเนื่องจากช่วงตรุษจีนเพื่อป้องกันการระบาดของโรคและถึงแม้รัฐบาลจีนกำหนดให้เริ่มเปิดงานตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ในความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน ทั้งผู้ส่งออก-นำเข้า สายเดินเรือและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และขนส่งสินค้าในจีนยังไม่เปิดทำการเต็มรูปแบบ 100% จากพนักงานสามารถกลับมาทำงานได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาต่อเนื่องตามมาในจีนขณะนี้คือ เกิดความแออัดในท่าเรือ ทำให้มีปัญหาสินค้าตกค้าง และสายเรือต้องทำการปรับตารางเดินเรือ โดยลดจำนวนความถี่ของเรือที่เข้าไปยังประเทศจีนลง เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดในท่าเรือ รวมถึงการขาดแคลนปลั๊กสำหรับตู้ Reefer (ตู้ควบคุมอุณหภูมิ) ในหลายท่าของจีน อาทิ เซี่ยงไฮ้ หนิงโป เทียนจิน กระทบกลุ่มสินค้าที่เน่าเสียง่ายได้รับความเสียหายและมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม จากสายเดินเรือบางรายประกาศเรียกเก็บในอัตรา 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเปลี่ยนท่าเรือปลายทางจากปัญหาการขาดแคลนปลั๊กสำหรับตู้ควบคุมอุณหภูมิ

ข้อมูล Real Time การระบาดไวรัสโคโรนา(โควิด-19)

“การหยุดงานและความแออัดของท่าเรือ ส่งผลต่อซัพพลายเชนของไทยที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนประสบปัญหาทั้งสินค้าที่ต้องการส่งเข้าจีนล้นสต๊อก และวัตถุดิบที่ต้องการจากจีนขาดแคลน คาดแต่ละอุตสาหกรรมของจีนอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการและกลับมาผลิตได้เต็มกำลังในอีก 6 เดือนหรืออาจมากกว่านั้น”

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทน เนอร์บรรจุสินค้าในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป เนื่องจากจีนเป็นระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับซัพพลายเชนระหว่างประเทศ และเป็นประเทศหลักที่มีการผลิตตู้สินค้าจำนวนมากหมุนเวียนเข้าออกผ่านประเทศจีน แต่การชะงักงันของตู้สินค้าในท่าเรือและพื้นที่อื่นของจีน จะทำให้การหมุนเวียนตู้สินค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบ (ปี 2562 การใช้ตู้คอนเทนเนอร์ของโลกอยู่ที่ 863 ล้านตู้)

จีนสะดุด  ฉุดโลกป่วน  ตู้สินค้าขาด

 

โดยระยะสั้น ตู้สินค้าจะคงค้างในประเทศจีน จากไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อในจีน และไม่สามารถส่งออกได้จากสายเรือจำนวนมากได้ยกเลิกการเทียบท่าเรือหลัก ขณะที่ตู้สินค้าอาจตกค้างในท่าเรือถ่ายลำระหว่างทาง เนื่องจากไม่สามารถขนส่งต่อไปยังท่าเรือในจีน เพราะไม่สามารถขนถ่ายสินค้าขึ้นท่าเรือหรือส่งมอบสินค้าต่อไปได้ และในระยะยาวเมื่อการผลิตของจีนและประเทศอื่นเริ่มฟื้นตัว จะเกิดการแย่งชิงตู้สินค้าจำนวนมากพร้อมๆ กัน เพื่อส่งมอบสินค้าตามที่ได้ทำสัญญาไว้ ซึ่งพฤติการณ์ปกติของผู้ประกอบการจีนคือ พร้อมจ่ายค่าระวางเรือในอัตราสูง เพื่อให้ได้ตู้สินค้าไว้ใช้งาน อาจจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในตลาดโลกอย่างรวดเร็ว และผลกระทบจากไวรัสโคโรนาคาดปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ผ่านเข้าออกประเทศไทยลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณการค้าของไทยกับจีนที่มีสัดส่วน 10-12% จะลดลง

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การค้าโลกปี 2563 จะขยายตัวได้ที่ 2.7% คิดเป็นมูลค่า 18.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีที่แล้วขยายตัว 2.6% ส่วนตัวคาดการค้าโลกปีนี้จะขยายตัวดีที่สุดที่ 2.6% ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่หากไวรัสโคโรนาลากยาวอาจจะขยายตัวได้เพียง 2.5% หรือตํ่ากว่า

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า สินค้าที่ส่งออกไปท่าเรือสำคัญของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางโจว ต้าเหลียน ชิงเต่า ฯลฯเวลานี้ สินค้าไปกองเพราะไม่มีกิจกรรมโลจิสติกส์ ทำให้เรือรับขนสินค้าลดลงไม่น้อยกว่า 35% เรือคอนเทนเนอร์ระหว่างแหลมฉบังไปท่าเรือเซี่ยงไฮ้ก่อนหน้านี้ใน 1 สัปดาห์มี 6 ลำ ขณะนี้ให้บริการเหลือเพียง 2 ลำต่อสัปดาห์เพราะสินค้าไม่เต็มลำ จากผู้นำเข้าของจีนไม่ “Confirm Order” ตัวเลขการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์จะลดลงแน่นอน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,552 วันที่ 27 - 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563