กกพ.เร่งศึกษา Sandbox  พลิกโฉมซื้อขายไฟฟ้า

08 มี.ค. 2563 | 02:05 น.

ด้วยกระแสการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่รวดเร็ว (Disruptive Technology) ส่งผลให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตไฟฟ้า ที่ปัจจุบันผู้บริโภคกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้า มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันเอง (Peer to Peer หรือ P2P) มากขึ้น ใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาเป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่มีระเบียบออกมารองรับ ส่งผลให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ต้องวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีดังกล่าวให้ทัน

ที่ผ่านมาจึงได้มีโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุน การให้บริการด้านพลังงานหรือ ERC Sandbox ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทดสอบ วิจัย และการพัฒนานวัตกรรม เพื่อผ่อนปรนหลักเกณฑ์ การกำกับดูแลบางประการที่มีอยู่เดิม ให้สามารถดำเนินงานจนกว่าจะพร้อมเข้าสู่ขั้นตอนการใช้งานในวงกว้างหรือในเชิงพาณิชย์ ซึ่งมี ERC Sandbox ที่ผ่านการพิจารณาได้รับสิทธิเข้าร่วม 34 โครงการ เป็นโครงการทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading) จำนวน 8 ราย และโครงการผลิต ไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) จำนวน 6 ราย ซึ่งจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบในการดำเนินงานช่วงเดือนมีนาคมนี้

 

ดูงาน Sandbox งานต้นแบบ

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่กำลังจะเริ่มทดสอบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน ทางประเทศญี่ปุ่นก็ได้เริ่มการดำเนินงานลักษณะนี้ไปแล้วเช่นกัน ซึ่งกกพ.ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางศึกษาดูงานด้านไฟฟ้าของบริษัท Kansai Electric​ Power​ ของประเทศญี่ปุ่น​ ระหว่างวันที่​ 16-20​ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่มีส่วนแบ่งการตลาด 17% เป็นอันดับ 2 ของ ญี่ปุ่น ด้วยกำลังผลิตไฟฟ้า 34 กิกะวัตต์ และได้นำใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาเป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้า

นายฟูมิอากิ อิสชิดะ ผู้จัดการ ทั่วไป ห้องปฏิบัติการใช้พลังงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนา Kansai Electric Power กล่าวว่า ในปี 2562 มีผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตรวม 3 กิกะวัตต์ แต่ได้หมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้ว 2 กิกะวัตต์ และเหลืออีก 1 กิกะวัตต์ที่ใกล้จะ หมดอายุลง การแก้ปัญหาดังกล่าวทางบริษัทจึงได้เสนอให้มีการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ Peer to Peer ด้วยการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ ทำให้รายย่อยสามารถซื้อขายได้สะดวก และราคาเหมาะสม เพราะเป็นการตกลงราคาที่พึงพอใจในหลายรูปแบบ

 

กกพ.เร่งศึกษา Sandbox  พลิกโฉมซื้อขายไฟฟ้า

ชงกพช.ไฟเขียวซื้อขายไฟ

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายไฟฟ้าในญี่ปุ่น ยังมีอุปสรรคด้านกฎหมายเช่นเดียวกับประเทศไทย คือผู้บริโภคยังไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้ ดังนั้นการจัดทำโครงการ Sandbox ขึ้น เพื่อมาทดสอบระบบซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ของบริษัท และทดลองกับ ชุมชนประมาณ 10 หลังคาเรือน โดยไม่มีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อจะศึกษารูปแบบการ ซื้อขายไฟฟ้าใหม่ๆ ให้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมนอกเหนือจากการใช้เอง หากการทดสอบแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดการซื้อขายไฟฟ้าใน รูปแบบนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองและต้องการขายไฟฟ้าของไทยยังมีปริมาณไม่มาก แต่ต่อไปหากมีจำนวนเพิ่มขึ้นและยังต้องพึ่งพาโดยเชื่อมต่อระบบสายส่งไฟฟ้า อาจต้องมีการจัดเก็บค่าบริการต่างๆ เพื่อดูแลไม่ให้ระบบหลักและผู้บริโภคโดยรวมเสียประโยชน์ ดังนั้นในการประชุมกพช.เดือนมีนาคมนี้ กกพ.จะเสนอยกเว้นนโยบาย Enhancing Single Buyer ที่กำหนดให้ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว ภายใต้การนำร่องผ่านโครงการ ERC Sandbox ก่อน

ตั้งกองทุนกำจัดแผงโซลาร์

นอกจากนี้ กกพ.ยังดูงานโซลาร์ฟาร์มของกลุ่ม Kansaiที่เมือง Sakai ภายใต้ชื่อ Sakai Solar Power Station ขนาด 10 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่กำจัดกากอุตสาหกรรม โดยมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 74,000 แผง ซึ่งใช้งานมาแล้ว 10 ปี จากอายุการใช้งาน 20 ปี ทำให้ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาแนวทางที่เหมาะสม ในการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ โดยญี่ปุ่นได้นำนโยบาย ให้มีการสะสมเงินเข้ากองทุนเพื่อรองรับการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุที่จะออกมาเป็นจำนวนมากในอีก 10 ปีข้างหน้า

“ไทยเองก็ต้องศึกษาแนวทางกำจัดในหลายรูปแบบ เนื่องเพราะแผงโซลาร์เซลล์ของไทยก็จะหมดอายุใกล้เคียงกับญี่ปุ่นเช่นกัน เบื้องต้นอาจให้มีการทดลองบางพื้นที่ภายใต้ Sandbox ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงกลไกบางประการใน Sandbox เพื่อให้สามารถเดินหน้าทดลองได้ โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”

 

กกพ.เร่งศึกษา Sandbox  พลิกโฉมซื้อขายไฟฟ้า