ตั้งสอบข้อเท็จจริง ‘การบินไทย’ จัดซื้อแอร์บัส 340 ใช้งานไม่คุ้ม

25 ก.พ. 2563 | 11:48 น.

คมนาคม ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หลังบริษัทการบินไทย จัดซื้อเครื่องบินA340 ไม่รายงานความคืบหน้า

 

 

 

 

นายสมัย  โชติสกุล   ผู้ตรวจราชการการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีการจัดซื้อเครื่องบินของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีกำหนดให้ตรวจสอบได้ข้อสรุปและชี้มูลความผิดภายใน 30 วัน

 

  สำหรับประเด็นที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจะต้องดำเนินการ เป็นกรณีเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340 จำนวน 10 ลำ ในช่วงปี 2546 -2547 โดยจะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 2 ประเด็น ประกอบไปด้วย ประเด็นที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทย ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ได้นำความคิดเห็นและข้อสังเกตของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลังไปพิจารณาดำเนินการ และการใช้งานเครื่องบินไม่คุ้มค่า

 

เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา   ได้ทราบคำสั่งให้มาตรวจสอบเรื่องนี้ จากการรับทราบข้อมูลเบื้องต้น พบว่าเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ โดยประเด็นที่จะต้องตรวจสอบกันมี 2 เรื่องที่เคยตั้งข้อสังเกตการณ์มาแล้ว โดยเป็นเรื่องไม่ทำตามมติ ครม. และเรื่องจัดซื้อมาใช้งานไม่คุ้มค่า เบื้องต้นคาดว่าจะต้องขอขยายกรอบเวลาตรวจสอบออกไปอีก 30 วัน เพราะเรื่องมีรายละเอียดข้อมูลเยอะ โดยเฉพาเรื่องความคุ้มค่าจะต้องตั้งคณะทำงานตรวจสอบอย่างละเอียด

 

 เป้าหมายของการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ เพราะต้องการให้เป็นแนวทางปฏิบัติ ต่อไปจะดำเนินการอย่างไรให้ป้องกัน และคำนึงถึงประโยชน์ของชาติ เนื่องจากการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340 จำนวน 10 ลำนั้น ปัจจุบันพบว่าการบินไทยปลดระวาง และมีการจอดค้างนาน ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จึงเป็นประเด็นที่ต้องตรวจสอบเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม  กล่าวว่า การจัดซื้อเครื่องบิน ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.โดยไม่นำความเห็นของ สศช.และกระทรวงการคลังไปพิจารณาด้านการบินไทยชี้แจงว่า มติ ครม.ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขหรือระบุแน่ชัดว่า ก่อนดำเนินการจัดหาเครื่องบินจะต้องนำความเห็นและข้อสังเกตุที่รับไปดำเนินการและกลับไปรายงานผลการปฏิบัติให้ ครม.เห็นชอบอีกครั้ง ก่อนจัดซื้อเครื่องบิน หาก ครม.ต้องการให้ บริษัทการบินไทยฯ ปฏิบัติตามข้อสังเกตและความเห็น ก็ควรทวงถามก่อนที่จะอนุมัติให้จัดหาเครื่องบินในครั้งถัดไป แต่เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2547 ทาง ครม.กลับไม่ได้ทวงถามถึงผลการปฏิบัติตามข้อสังเกตและความเห็น จึงพิจารณาได้ว่าไม่มีความต้องการให้บริษัทการบินไทยฯ รายงานกลับไปให้ทราบ

 

นอกจากนี้กรณีประสบปัญหาขาดทุนจากเส้นทางกรุงเทพ-นิวยอร์ก และเส้นทางกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นเส้นทางที่นำเครื่องบินดังกล่าวไปให้บริการ การบินไทยชี้แจงว่า ตัวแปรสำคัญที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า คือ เรื่องราคาน้ำมันที่มีการปรับสูงขึ้น จากเดิมการบินไทยคาดการณ์สมมุติฐาน กำหนดไว้  82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เมื่อการบินไทยทำการบินจริงในปี 2548ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานปรับเพิ่มขึ้นเป็น 163 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือปรับเพิ่มขึ้นประมาณสองเท่า

 

ในขณะเดียวกันการบินไทยมีนโยบายเปิดเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก และเส้นทางกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส โดยไม่ต้องแวะพัก เนื่องจากใช้เครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ ในปี 2546 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยการบินไทยเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติจัดซื้อเครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ รุ่นแอร์บัส A340 อย่างต่อเนื่องในช่วงปี 25462546 ก่อนจะเปิดเที่ยวบินแรกเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2548 หยุดบินเนื่องจากผลดำเนินงานขาดทุนเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2551 โดยผลการดำเนินงานใน 2 เส้นทางดังกล่าว การบินไทยรายงานต่อที่ประชุมบอร์ดการบินไทย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2554 พบว่ารายได้รวมค่าธรรมเนียมน้ำมัน ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 2.2 พันล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมสูงขึ้นอยู่ที่ 3.1 พันล้านบาท และผลขาดทุนอยู่ที่ 980.4 ล้านบาท เกิดจากต้นทุนน้ำมันสูงกว่า 50% มากกว่าที่ประเมินไว้ในแผน รวมไปถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความนิยมใช้เครื่องบินรุ่นนี้ทั่วโลกมีน้อย

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการบินไทยได้ปลดระวางเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A340 และนำไปจอดไว้ที่สนามบินอู่ตะเภา โดยช่วงที่ผ่านมาการบินไทยได้พยายามขายเครื่องบินเหล่านี้ และมีผู้สนใจซื้อเครื่องบิน อาทิ AvCon Worldwide แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่สามารถตกลงราคา และจัดทำร่างสัญญาซื้อขายกันได้ ส่งผลให้เครื่องบินเหล่านี้เป็นค่าเสื่อมราคาที่กระทบผลประกอบการการบินไทยทุกปี