ส่งออกฝ่าวิกฤติ “โคโรนา” ตลาดจีนโตต่อเนื่องเดือนที่3

24 ก.พ. 2563 | 07:01 น.

ส่งออกเดือนมกราคมส่งสัญญาณดี ประเดิมขยายตัว 3.3% ชี้ผลพวงค้าโลกคลายกังวลสงครามการค้า ได้ส่งออกทองคำ-น้ำมันดันตัวเลข ขณะตลาดจีนโต 5% บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 “จุรินทร์”เตรียมถกทูตพาณิชย์ประเมินสถานการณ์อีกครั้ง 28 ก.พ.

 

นางสาวพิมพ์ชนก  วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2563 ว่า กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 6 เดือน ปัจจัยหลักจากการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นหลังจากโรงกลั่นปิดทำการเมื่อปลายปี 2562 และเริ่มกลับมาเปิดทำการตามปกติ รวมถึงการส่งออกทองคำที่สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก โดยส่งออกเดือนมกราคม มีมูลค่ารวม 19,626 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 3.35%  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 21,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.86%  ส่งผลให้การค้าของไทยในเดือนมกราคมขาดดุล 1,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่งออกฝ่าวิกฤติ “โคโรนา” ตลาดจีนโตต่อเนื่องเดือนที่3

                                                 พิมพ์ชนก  วอนขอพร 

ทั้งนี้ทิศทางการส่งออกของไทยสะท้อนแนวโน้มเชิงบวกจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (เฟส 1)ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวล และสินค้าที่ได้รับผลกระทบภายใต้มาตรการสงครามการค้าเช่น  เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวทั้งในตลาดสหรัฐฯ และจีน

 

ส่วนสินค้าดาวรุ่งของไทยในภาคการผลิตจริง (Real Sector) หลายรายการ เช่น ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่ม ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง   รวมถึงยอดส่งออกยางพารา และผลิตภัณฑ์ยางในตลาดตุรกี ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดและติดตามการส่งออกสินค้าจากการลงนาม MOU โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  โดยการส่งออกยางพารากลับมาเป็นบวกในรอบ 5 เดือน ขยายตัวในตลาดตลาดจีน มาเลเซีย บราซิล ตุรกี และเยอรมนี

ส่งออกฝ่าวิกฤติ “โคโรนา” ตลาดจีนโตต่อเนื่องเดือนที่3

 

นอกจากนี้ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรอื่นๆ ที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น น้ำตาลทราย ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป นมและผลิตภัณฑ์นม และสิ่งปรุงรสอาหาร สินค้าอุตสาหกรรม ที่ยังคงเติบโตดีต่อเนื่อง อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว  ในรายตลาด การส่งออกไปตลาดสำคัญมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไป 2 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลกอย่างสหรัฐฯ ขยายตัว 9.9% และจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (ขยายตัว 5.2%)  เช่นเดียวกับตลาดไต้หวัน ขยายตัว 13%  และตะวันออกกลาง มีสัญญาณเติบโตต่อเนื่อง ที่ 2%

 

ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบที่ 6.3% โดยสินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 18.6%   ยางพารา ขยายตัวที่ 12%  ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 9.5% เป็นต้น ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวที่ 5.2%  สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ทองคำ ขยายเกือบทุกตลาดที่ 299.6%  รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาด ขยายตัว 35.4%  เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัว 29.9%  เป็นต้น

 

ในขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาดกลับมาขยายตัว โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัว 3.1%  เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 9.9%  และสหภาพยุโรป (15) ขยายตัว0.6%  ด้านการส่งออกไป ตลาดศักยภาพสูงขยายตัว 0.6% เป็นผลมาจากการส่งออกไปตลาดจีนขยายตัว 5.2%  และตลาดอาเซียน (5) กลับมาขยายตัวของ  3.8%

 

อย่างไรก็ตามการส่งออกไปตลาดเอเชียใต้ ปรับตัวลดลง 4.6% และ CLMV ปรับตัวลดลง 0.7%  สำหรับตลาดศักยภาพระดับรองติดลบที่ 6.6%  ตามการส่งออกไปตลาดทวีปออสเตรเลีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ที่ลดลง

 

สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563  แม้ว่าการลงนามข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ-จีนในเฟสที่ 1 ช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นบ้าง สะท้อนจากการส่งออกไทยที่กลับมาขยายตัวในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกและการส่งออกไทยยังเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา(โควิด-19) ที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะสั้น-กลาง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์   และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ

 

อย่างไรก็ดีรัฐบาลจีนมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรม โดยจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 รายวันในจีนเริ่มลดลง คาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในไม่ช้า และประเมินว่าทางการจีนจะทยอยออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้

ส่งออกฝ่าวิกฤติ “โคโรนา” ตลาดจีนโตต่อเนื่องเดือนที่3

ส่วนประเด็นค่าเงินนั้น ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตั้งแต่ช่วงต้นปี อาจช่วยลดแรงกดดันสำหรับสินค้าที่มีการแข่งทางด้านราคาสูงได้บ้าง ทั้งนี้ ผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนร่วมด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยลบในภาวะที่มีความผันผวนสูง  (มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2563 ในรูปเงินบาท มีมูลค่า 587,494 ล้านบาท ขยายตัวลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 643,511 ล้านบาท ลดลง 14.8% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 56,017 ล้านบาท)

 

ทั้งนี้ในภาวะที่มีปัจจัยท้าทายหลายประการในหลายตลาด ความหลากหลายของสินค้าส่งออกไทยที่กระจายในขั้นตอนต่างๆ ทั้งวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าขั้นสุดท้าย และการกระจายตัวของตลาดส่งออก จะช่วยประคับประคองการส่งออกไทยในระยะนี้ได้ดี เมื่อเทียบกับประเทศที่มีโครงสร้างการส่งออกที่พึ่งพาสินค้าหรือตลาดส่งออกจำกัด และในช่วงที่หลายประเทศให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของสุขอนามัย จึงเป็นโอกาสดีในการขยายตลาดส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร ซึ่งสินค้าไทยมีภาพลักษณ์ดีและได้รับมาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้การรุกตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อส่งเสริมการค้าที่ตอบสนองรูปแบบการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้บริโภคมีความกังวลและระมัดระวังการออกไปที่สาธารณะมากขึ้น

สำหรับการส่งเสริมการส่งออกในปี 2563  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีแผนนำคณะกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนเดินทางไปเปิดตลาด ตามกลยุทธ์ รักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่า อย่างน้อย 18 ประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง รัสเซีย โดยจะมีการประชุมทูตพาณิชย์ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกไทยในปีนี้อีกครั้ง”