เงินหมุนศก.มาแน่เมษาฯ 3.5แสนล้าน

24 ก.พ. 2563 | 00:00 น.

คลังเตรียมพร้อมจ่ายเงินลงระบบทันที 3.5 แสนล้านเมษายนนี้ หลังพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 มีผลบังคับใช้ พร้อมกำชับเร่งเบิกจ่ายงบให้ได้ 80% ของงบรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท แม้มีเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น

 

ปัญหาความล่าช้าของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในปี 2563 ทำให้มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อม

โดยให้ส่วนราชการที่ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณแล้ว ดำเนินการในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้พร้อมเพื่อให้สามารถ ยื่นขอเบิกเงินงบประมาณได้ทันทีที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้ซึ่งล่าสุดคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนเมษายนนี้

 

คลังจ่ายทันที

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เร่งรัดให้เม็ดเงินทั้งรายจ่ายเพื่อการลงทุนและรายจ่ายประจำให้ลงสู่ระบบโดยเร็ว หลังพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2563 มีผลบังคับใช้ โดยที่พร้อมเบิกจ่ายทันทีในเดือนเมษายน คือ 3.5 แสนล้านบาท เพราะหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมกระบวนการต่างๆ เสร็จแล้ว เงินจะเข้าสู่ระบบได้ทันที และอีก 9.6 หมื่นล้านบาท ได้ทำ TOR รอไว้แล้ว โดยเงินส่วนนี้ก็จะทยอยลงสู่ระบบต่อไปและอีก 2.4 แสนล้านบาทที่อยู่ระหว่างการทำ TOR ใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน ก็แล้วเสร็จ ฉะนั้นเงินก้อนนี้ก็จะเข้าสู่ระบบในไตรมาสที่ 3 ต่อไป

ทั้งนี้การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แม้จะล่าช้าและสามารถใช้เม็ดเงินได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่รัฐบาลได้เร่งรัดให้เม็ดเงินทั้งรายจ่ายเพื่อการลงทุนและรายจ่ายประจำให้ลงสู่ระบบโดยเร็ว ซึ่งเบื้องต้นจะมีเม็ดเงินเบิกจ่ายลงสู่ระบบในไตรมาส 2 กว่า 4.46 แสนล้านบาท และอีก 2.4 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาส 3 ได้ ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำชับให้เร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมายไม่ตํ่ากว่า 80% ของงบประมาณรายจ่ายที่ 3.2 ล้านล้านบาท

 

ลุยถนน3,000 โครงการ

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) กล่าวว่า กรมได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 ราวกว่า 40,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบก่อสร้างซ่อมบำรุงทาง 3,000 โครงการ โดยได้รับการประสานจากกรมบัญชีกลางให้เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่า จะสามารถลงนามเซ็นสัญญาโครงการและเริ่มก่อสร้างได้ช่วงปลายมีนาคม 2563 นี้  ส่วนโครงการขนาดใหญ่มี 2 โครงการที่สามารถลงนามในสัญญาได้ทันที คือ โครงการพัฒนาผังเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ วงเงิน 430 ล้านบาทและโครงการพัฒนาผังเมืองจังหวัดมหาสารคาม วงเงิน 167 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) คาดว่าปลายเดือนเมษายน นี้สามารถเซ็นสัญญาได้ 

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า มีโครงการขนาดใหญ่ทั้งหมด 16 โครงการที่อยู่ระหว่างประกาศประกวดราคาและเตรียมความพร้อม เพื่อจะสามารถลงนามเซ็นสัญญาได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ คาดว่าทั้ง 16 โครงการสามารถเซ็นสัญญาได้ครบทุกโครงการภายในเดือน เมษายน-พฤษภาคมนี้ ส่วนโครงการขนาดใหญ่ อย่างทางพิเศษระหว่างเมือง มอเตอร์เวย์ ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ มีผูกพันงบประมาณ เวนคืนส่วนการก่อสร้างเป็นรูปแบบรัฐร่วมลงทุนเอกชน หรือพีพีพี

 

เร่งทางคู่-สายสีแดง

ขณะระบบรางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางหลังผ่านความเห็นชอบจาก
คณะรัฐมนตรี  (ครม.) คือ ทางคู่สายใหม่ เวนคืนทั้งเส้นทาง ได้แก่ ทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. มีสิ่งปลูกสร้างได้รับผลกระทบ 1,200 หลังคาเรือน ที่ดิน 9,600 ไร่, ทางคู่บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 355 กม. เวนคืนสิ่งปลูกสร้าง 930 หลังคาเรือน ที่ดิน 7,100 แปลง เช่นเดียวกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงสายใหม่ ที่ต้องเปิดประมูลหาผู้รับจ้าง 4 เส้นทาง

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ระบุว่า โครงการที่รับผิดชอบเร่งนำออกประมูลภายในกลางปีนี้คือ รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก(ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) แต่การเวนคืนตลอดเส้นทาง รัฐเป็นฝ่ายดำเนินการสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ก็เช่นเดียวกัน

เงินหมุนศก.มาแน่เมษาฯ  3.5แสนล้าน

 

ขยาย 4 สนามบิน

ขณะที่การลงทุนของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ปีงบ 2563 วงเงินรวม 3,375 พันล้านบาท เพื่อขยายศักยภาพของสนามบิน 4 สนามบิน โดยการก่อสร้างทางขับขนานพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินกระบี่ จะขยายการรองรับการขึ้นลงของเครื่องบินจาก 10 ลำต่อชั่วโมงเป็น 25 ลำต่อชั่วโมง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศประกวดราคา คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างและลงนามในสัญญา
ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ในต้นปี 2566

การขยายลานจอดอากาศยานสนามบินสุราษฎร์ธานี และสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ สนามบินนราธิวาส เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนจาก 300 คนต่อชั่วโมงเป็น 600 คนต่อชั่วโมงและเพิ่มการรองรับผู้โดยสารเพิ่มจากเดิม 8.64 แสนคนต่อปีเป็น 1.7 ล้านคนต่อปี ทั้ง 2 โครงการนี้อยู่ระหว่างประกาศประกวดราคา คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างและลงนามในสัญญาภายในเดือนเมษายน 2563 เพื่อให้เปิดบริการในปี 2565

ทั้งยังจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินบุรีรัมย์ เพื่อรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนจาก 300 คนต่อชั่วโมงเป็น 600 คนต่อชั่วโมง และผู้โดยสารจาก 8.5 แสนคนต่อปีเป็น 1.7 ล้านคนต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงรูปแบบ คาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมปีนี้ เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจะเปิดให้บริการในปี 2565 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3551 วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2563