ขยายมอเตอร์เวย์อีอีซี หนุนเส้นทางขนส่งสู่อีสาน

21 ก.พ. 2563 | 11:05 น.

ทล.เดินหน้าขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์อีอีซี  เตรียมของบปี 64 ศึกษาเส้นทางเพิ่ม ขณะที่มอเตอร์เวย์สาย 7 พัทยา - มาบตาพุด เริ่มให้บริการ ก.ค.นี้ คาดสร้างรายได้ 300-400 ล้านต่อปี

 

 

 

 

 

นายปิยพงศ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการ กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับแผนขยายโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เพื่อสนับสนุนพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ทล.อยู่ระหว่างเตรียมของบประมาณประจำปี 2564 เพื่อศึกษาความเหมาะสมในเส้นทางชลบุรี - จันทบุรี เบื้องต้นคาดว่าใช้งบศึกษาราว 30-40 ล้านบาท โดยใช้เวลาศึกษา 5 เดือน โดยเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าสู่พื้นที่อีอีซี รวมทั้งจะเป็นโครงการสำคัญในการขยายเมือง

 

  ขยายมอเตอร์เวย์อีอีซี หนุนเส้นทางขนส่งสู่อีสาน

นายปิยพงศ์ กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกันทล.มีโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์เชื่อมภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางแหลมฉบัง - ปราจีนบุรี - นครราชสีมา โดยปัจจุบันแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ช่วงแหลมฉบัง - ปราจีนบุรี ระยะทางประมาณ 130-140 กิโลเมตร (กม.) คาดว่าจะใช้งบก่อสร้างราว 4 หมื่นล้านบาท ในปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนของการออกแบบก่อสร้าง ซึ่งมีการคืบหน้าแล้วราว 50% หรือประมาณ 60-70 กม. หลังจากนี้ ทล.จะเสนอของบประมาณประจำปี 2564 เพื่อออกแบบเพิ่มเติมอีก 60-70 กม. ให้แล้วเสร็จ

 

  ขยายมอเตอร์เวย์อีอีซี หนุนเส้นทางขนส่งสู่อีสาน ขณะเดียวกันแนวเส้นทางระยะที่ 2 ช่วงปราจีนบุรี - นครราชสีมา ถือเป็นโครงการในอนาคตที่ยังไม่เริ่มออกแบบ เนื่องจากแนวเส้นทางจะพาดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำเป็นต้องเจาะอุโมงค์ผ่าน ระยะทางราว 10 กม. ทำให้เส้นทางนี้ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างละเอียด นอกจากนี้ ทล.อยู่ระหว่างดำเนินการให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เข้ามาช่วยเหลือด้านงานก่อสร้างและการขุดเจาะต่างๆในปลายปีนี้ โดยจะนำทีมผู้เชี่ยวชาญมาสอนงานแก่ทีมงานของทล.

 

  ขยายมอเตอร์เวย์อีอีซี หนุนเส้นทางขนส่งสู่อีสาน

"หากโครงการดังกล่าวสามารถพัฒนาได้ครบทั้งสองระยะ เชื่อว่าจะเป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์ที่สำคัญของประเทศ รวมถึงเป็นเส้นทางที่สนับสนุนการขนส่งสินค้า ซึ่งจะเป็นประตูสู่อีสาน และทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างภาคอีสานและภาคตะวันออกใช้เวลาลดลงจาก 5.30 ชั่วโมง เหลือเพียง 3.30 ชั่วโมง

  ขยายมอเตอร์เวย์อีอีซี หนุนเส้นทางขนส่งสู่อีสาน

สำหรับความคืบหน้าโครงการเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 7 พัทยา - มาบตาพุด ขณะนี้งานโยธาแล้วเสร็จ ประมาณ 98% ส่วนงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง แล้วเสร็จประมาณ 60% ส่งผลให้ภาพรวมโครงการ คืบหน้าไปแล้วกว่า 95% เบื้องต้นประเมินว่าหากมอเตอร์เวย์สายนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการ ภายในเดือน ก.ค. 2563 ในขณะเดียวกันเชื่อว่าจะมีปริมาณผู้ใช้เส้นทางนี้ อยู่ที่ 3.5 หมื่นคันต่อวัน โดยเป็นรถที่วิ่งเชื่อมต่อจากเส้นทางมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ - พัทยา 70% และรถที่วิ่งช่วงพัทยา - มาบตาพุด อีก 30% ซึ่งจะสร้างรายได้จากการจัดเก็บค่าผ่านทาง  ราว 300-400 ล้านบาทต่อปี

  ขยายมอเตอร์เวย์อีอีซี หนุนเส้นทางขนส่งสู่อีสาน

นอกจากนี้อัตราค่าผ่านทางโครงการเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 7 พัทยา - มาบตาพุดโดยแบ่งกลุ่มอัตราค่าธรรมเนียมตามประเภท ประกอบด้วย 1.รถยนต์ 4 ล้อ อัตรา 10-130 บาท ,รถยนต์ 6 ล้อ อัตรา 15-210 บาท และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป อัตรา 20 - 305 บาท ซึ่งมีอาคารเก็บค่าธรรมเนียม 3 แห่ง ประกอบด้วย ด่านฯ ห้วยใหญ่ บริเวณกิโลเมตรที่ 15+300 ด่านฯ เขาซีโอน บริเวณกิโลเมตรที่ 26+375 และด่านฯ อู่ตะเภา บริเวณกิโลมตรที่ 30+250