จับตาค่าไฟพุ่ง ลงทุนซํ้าซ้อนพีดีพี

23 ก.พ. 2563 | 23:30 น.

กระทรวงพลังงาน ระบุชัดไม่บรรจุกำลังผลิตไฟฟ้าภาคใต้ ของศอ.บต.และอีอีซี รวมกว่า 3.3 พันเมกะวัตต์ อยู่ในแผนพีดีพีและแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฉบับใหม่ ที่จะเสนอกพช. เดือนมี.ค.นี้ หวั่นเกิดการลงทุนซํ้าซ้อน เป็นภาระค่าไฟฟ้าประชาชน จี้เร่งหารือให้ได้ข้อสรุป

ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับปรับปรุงใหม่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงกำลังการผลิตไฟฟ้า ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอและผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว 2 ส่วน ได้แก่ แผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่จะมีการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 1,700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขนาดกำลังผลิต 930 เมกะวัตต์

รวมถึงโครงการบริการจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประมาณ 257 เมกะวัตต์ เป็นใน ส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดกำลังผลิต 1.5-2 เมกะวัตต์ จำนวน 200 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่ไม่สามารถดำเนินการได้ 3 แห่ง ขนาดแห่งละไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ รวม 30 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กอีก 27 เมกะวัตต์

จับตาค่าไฟพุ่ง ลงทุนซํ้าซ้อนพีดีพี

อีกทั้ง คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไปดำเนินโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในเขตอีอีซีอีกไม่ตํ่ากว่า 500 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้ จะเป็นการลงทุนที่ซํ้าซ้อนเกินความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลไปถึงค่าไฟฟ้าที่จะกระทบกับประชาชนในอนาคต เนื่องจากกำลังการผลิตราว 3,387 เมกะวัตต์ไม่มีการบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีแต่อย่างใด

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการนำเสนอแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงใหม่ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในเดือนมีนาคม 2563 นี้ ไม่มีการบรรจุกำลังการผลิต 3,387 เมกะวัตต์ ดังกล่าว เข้าไปอยู่ในแผนพีดีพีที่ปรับปรุงใหม่แต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ให้ความคิดเห็นไปแล้ว ว่าหากจะดำเนินงานขึ้นมา จะเป็นการลงทุนที่ซํ้าซ้อนกับแผนพีดีพี ของการสร้างความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ ที่มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ไปดำเนินการ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กำลังผลิตไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก กำหนดเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าในปี 2570 และ ปี 2572 ตามลำดับ และเปิดให้เอกชนประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดกำลังผลิต 1,700 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำหนดเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าในปี 2577l- 2578 ไปแล้ว แต่ก็ไม่มีการรับฟังเหตุผลดังกล่าว

รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาพลังงานทดแทนของภาคใต้ ก็ไม่ได้มีการหารือกับกระทรวงพลังงาน จึงทำให้กำลังผลิตราว 257 เมกะวัตต์ ไม่มีการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ที่จะสู่การพิจารณาของกพช.ในเดือนมีนาคมนี้เช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ของ กฟภ.ด้วย

ทั้งนี้ หากการดำเนินงานดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะเป็นการลงทุนที่ซํ้าซ้อนกับแผนพีดีพีและแผนพัฒนาพลังงานทดแทนที่มีอยู่ หรือทำให้เกิดการลงทุนที่เกินความ เป็นจริง เป็นต้นทุนส่ง ผลไปถึงค่าไฟฟ้าที่จะไปกระทบต่อภาคประชาชน

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความซํ้าซ้อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นศอ.บต.และอีอีซี จะต้องมีการหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติ ก่อนที่จะดำเนินงาน และหลังจากนั้นจะไปปรับปรุงแผนพีดีพีอีกครั้งหนึ่งก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะการยกสิทธิก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคใต้ ให้เอกชนไปดำเนินการโดยไม่ผ่านการประมูลนั้น เป็นการขัดกับนโยบายการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน ที่กระทรวง พลังงานไม่เห็นด้วย

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

จับตาค่าไฟพุ่ง ลงทุนซํ้าซ้อนพีดีพี