รถยนต์ลุยไฟ คงเป้าผลิต2ล้านคัน

20 ก.พ. 2563 | 08:05 น.

ตลาดรถยนต์เซ ประเดิมเดือนมกราฯ ส่งออกต่ำสุดรอบ 7 ปี 9 เดือน ชี้คนแห่ซื้อรถเชฟโรเลตสะท้อนยังมีกำลังซื้อแต่ไม่กล้าจับจ่ายจากไม่มั่นใจเศรษฐกิจ กัดฟันคงเป้าผลิตรถยนต์ปีนี้ที่ 2 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่ายอดผลิตรถยนต์เดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 156,266 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.99% เป็นยอดผลิตเพื่อส่งออก 85,143 คัน ลดลง 15.74% และยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 71,123 คัน  ลดลง 9.46%  ทั้งนี้ สอดคล้องกับยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 65,295 คัน ลดลง 19.96% ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี 9 เดือน โดยส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า   ที่ชะลอตัวลง ยกเว้นตลาดตะวันออกกลาง มูลค่าการส่งออก 32,271.37 ล้านบาท ลดลง 20.94% และ ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศอยู่ที่ 71,688 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.2% จากการเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์มียอดขาย 145,279 คัน ลดลง 2.4%

รถยนต์ลุยไฟ คงเป้าผลิต2ล้านคัน

ส่วนการยกเลิกผลิตรถยนต์ของ Chevrolet จะไม่กระทบภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยเนื่องจากปัญหาของบริษัท General Motor มีมาตั้งแต่ปี 2561 ที่ประกาศลดคนจำนวน 100 คนและปีที่ผ่านมาได้ประกาศลดคนในไทย 300 คนและเลิกผลิตรถยนต์บางรุ่นในไทยแล้วจนต่อเนื่องมาถึงปีนี้ที่ประกาศยกเลิกการผลิตรถกระบะ ในไทยและก่อนหน้านี้ก็เกิดปัญหา ในลักษณะเดียวกันที่ประเทศออสเตรเลียซึ่งไม่ได้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจไทยแต่เป็นปัญหาทางธุรกิจของ GM และยังไม่เห็นสัญญาณว่ามีค่ายรถยนต์ใดเกิดปัญหาเช่นเดียวกับ GM 

ดังนั้น ปีนี้ ส.อ.ท. ยังตั้งเป้ายอดการผลิตรถยนต์ในไทยที่ 2 ล้านคัน โดยสัดส่วนของ GM ประมาณกว่าหมื่นคัน และส่วนใหญ่ GM จะผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าขายในประเทศ ส่วนปัญหาการดัมพ์ราคาขายของเชฟโรเลต เชื่อว่าเป็นเพียงแค่ระยะสั้น เพราะ รุ่นรถที่นำมาลดราคาขายมีไม่ถึง 1,000 คันจากปริมาณสต๊อกทั้งหมด 4,000 คัน

“ประชาชนที่ซื้อรถของเชฟโรเลตจะต้องระมัดระวังโดยต้องซื้อด้วยเงินสดเพราะไฟแนนซ์ไม่ปล่อยกู้ให้ ขณะเดียวกันเต็นท์รถมือ 2 คงได้รับผลกระทบ ไม่สามารถขายรถยี่ห้อเชฟโรเลตได้ด้วย ส่วนที่มีประชาชนแห่ไปซื้อเชฟโรเลตหลังประกาศลดราคา เป็นภาพสะท้อนเศรษฐกิจที่ชัดเจนว่า คนยังมีกำลังซื้อ แต่ไม่กล้าใช้จ่าย เพราะไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลควรจะใช้โอกาสนี้หาแนวทางกระตุ้นกำลังซื้อ เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ หรือมาตรการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนในอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งมาตรการภาษีที่จูงใจให้เกิดการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายรถยนต์ และความต้องการใช้ของประชาชนด้วย”